นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์เมื่อ 18 พ.ค. กรณีได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจากหลายพื้นที่ว่า ไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้จริง ทั้งๆ ที่รัฐบาลลงทุนในโครงการนี้ไปด้วยงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ของประชาชนที่เข้าไม่ถึงการใช้งาน
นายกฤษฎา กล่าวว่าโครงการเน็ตประชารัฐที่มีปัญหาร้องเรียนอยู่ขณะนี้ คือโครงการที่กระทรวงดีอีเอส จ้างบริษัท ทีโอที ดำเนินการ โดยติดตั้งอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 24,700 หมู่บ้าน ตกจุดละ 5 แสนกว่าบาท ประกอบด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อเข้ากับบ้านเรือน และเเบบ Free Wi-Fi ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น
นอกจากโครงการจะใช้งบประมาณสูงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังพบว่า Free Wi-Fi ที่ติดตามหมู่บ้านนั้นเชื่อมต่อไม่ค่อยได้ สัญญาณอ่อนมาก บางพื้นที่ติดตั้งในสถานที่ที่ไม่อำนวย หากอยู่ห่างจากจุดติดตั้งสัญญาณ 20-50 เมตรก็ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
ส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อเข้ากับบ้านเรือนนั้นมีราคาสูงและมีเงื่อนไขผูกพันนานเกินไป โดยบริษัท ทีโอที ผูกขาดเพียงเจ้าเดียว ประชาชนต้องจ่ายเงินค่าเช่าแพงกว่า 'เน็ตชายขอบ' ที่ดำเนินการโดย กสทช. เกือบ 2 เท่าตัว ดังนั้นการให้บริการดังกล่าวจึงไม่ตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่โฆษณาว่า รัฐบาลจะให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
"โครงการนี้มีข้อครหามากมาย ผมเองก็ได้รับเอกสารร้องเรียนจากพลเมืองดีมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อนำไปตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลและความไม่โปร่งใสอยู่หลายประการ ซึ่งจะได้เรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป แต่ในเบื้องต้นอยากเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ผู้รับผิดชอบรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ของเน็ตประชารัฐสามารถเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้ง 24,700 จุด ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด" นายกฤษฎากล่าว
นายกฤษฎา กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นั้น ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล และต้องรักษาระยะห่างทางสังคม อินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ที่ประชาชนต้องใช้งานในการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ดังนั้นการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้โครงการเน็ตประชารัฐใช้งานไม่ได้จริงในบางพื้นที่ หรือมีราคาสูงยากแก่การเข้าถึง จึงถือเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาโรคระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลเอง อีกทั้งเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถแข่งขันและทำมาหากินแข่งขันสู้กับคนเมืองที่มีความพร้อมมากกว่าได้
"การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ประชาชนต้องใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โครงการเน็ตประชารัฐมีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้วหรือยัง อย่าดูถูกว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่รู้จักการใช้งานและไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตเด็ดขาด เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มีสมาร์ตโฟนกันทั้งนั้น ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบแก้ไขโดยด่วนให้เน็ตประชารัฐใช้งานได้จริงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตวิถีใหม่ได้อย่างมีคุณภาพเหมือนกันทุกคน" นายกฤษฎากล่าวทิ้งท้าย