ได้ยินวลี ‘หน้างอคอหัก’ เมื่อไหร่ ก็พาให้นึกถึงสายน้ำ ความมีชีวิตชีวาของหลากชีวิตริมลำคลองชุมชน ‘แม่กลอง’ จังหวัดสมุทรสงคราม ที่จากอดีตเนิ่นนานมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงความคลาสสิกอยู่เสมอ
Voice On Being ได้โอกาสเยือนเมืองปลาทูหน้างอ (ขอเสริมหน่อยว่า หน้างอคอหัก ที่เป็นนิยามของปลาทูแม่กลองนั้น มาจากปลาทูแม่กลองอุดมสมบูรณ์มาก ขนาดใหญ่กว่ามาตรฐาน ทำให้ต้องหักคอใส่เข่งถึงจะพอดี) ร่วมทำกิจกรรมกับโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสนับสนุนอาชีพ สินค้า และภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ไม่ให้จางหายไป ทั้งยังเป็นรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนอีกด้วย
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของน้ำตาลมะพร้าว ที่มีหลักแหล่งอยู่ ณ ชุมชนแม่กลอง อัมพวา อีกด้วย
เอาล่ะ หากพร้อมสัมผัสเสน่ห์แม่กลองแล้ว เลื่อนลงอ่านบรรทัดต่อไปพร้อมๆ กันเลย
ขับรถตัดจากตัวเมืองสมุทรสงคราม ลัดเลาะเข้าสู่ชุมชนแม่กลอง พื้นที่ที่ไม่ไกลจากตลาดอัมพวาอันโด่งดังมากนัก เราก็มาหยุดอยู่หน้าทางเข้าโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ในช่วงสายของวันเสาร์ต้นเดือนสิงหาคม ลงจากรถพร้อมสัมผัสกับการต้อนรับด้วยรอยยิ้มจากลุง ป้า น้า อา ที่ขนผลผลิตจากบ้านมาวางขายกันอย่างอบอุ่น
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ เกิดขึ้นจากการพระราชทานพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่ง ‘ประยงค์ นาคะวะรังค์’ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา เพื่อให้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา
ภายในโครงการ มีกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปะ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของคนท้องถิ่น ทั้งด้านกายภาพ และวิถีชีวิตของผู้ที่อาศัยในชุมชน และเป็นพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนจากการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูป และค่าตอบแทนจากการให้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
เดินลัดเลาะไปตามทิวต้นไม้ ท่ามกลางกลิ่นไอสดชื่นหลังฝนหยุดตก เราหยุดที่สถานีที่ 1 ‘น้ำม่วงชื่นชานชาลา’ น้ำสูตรพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ โดยมีส่วนผสมของน้ำตะไคร้ น้ำอัญชัญ น้ำเชื่อม ปรุงเพิ่มด้วยน้ำมะนาว เกลือ และใบสะระแหน่
ทั้งอัญชันแห้ง และตะไคร้ เป็นพืชผลที่คนในพื้นที่ต่างสามารถปลูก นำมาแปรรูป สร้างมูลค่า และสร้างสินค้าใหม่ๆ เพื่อนำมาวางขายได้
สถานีที่ 2 ‘ขนมวง’ ขนมขึ้นชื่อของชุมชน เป็นรูปทรงกลมมีรูตรงกลางคล้ายโดนัท แต่เล็กกว่า และใช้กรรมวิธีการทอด
ส่วนผสมง่ายๆ คือแป้งข้าวเหนียว มะพร้าวขูด และกล้วยหอม สัดส่วนกะเท่าๆ กันก่อนขยำให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยค่อยๆ เติมน้ำมะพร้าวทีละนิด ละนิด เพื่อไม่ให้แป้งแฉะเกินไป เมื่อแป้งเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นำมาปั้นเป็นวงกลม ก่อนน้ำไปทอดให้สีเหลืองกรอบ จากนั้นนำมาคลุกกับน้ำตาลมะพร้าว เสิร์ฟใส่กระทงใบตอง
รสชาติมันๆ จากมะพร้าว หนึบจากแป้ง หวานกล้วยและน้ำตาลมะพร้าวเคลือบ กินแล้วอารมณ์ดีจริงๆ
มาถึงสถานีสุดท้าย ‘เตาตาล’ ถือเป็นไฮไลท์ของโครงการเลยทีเดียว เพราะน้อยคนนักจะรู้ว่าอัมพวาคือต้นกำเนิดของน้ำตาลมะพร้าว ที่นี่มีวัฒนธรรม ‘ขึ้นตาล’ กันมาแต่โบราณ
การขึ้นตาลไม่ใช่หมายถึงการเก็บลูกตาลแต่อย่างใด ทว่าเป็นการขึ้นไปปาดน้ำหวานจากดอกมะพร้าวจากบนต้นมะพร้าว ซึ่งคนที่นี่นิยมเรียกว่า ‘ตาล’ มาแต่ไหนแต่ไร เพื่อนำมาเข้าเตาตาล ออกมาเป็นน้ำตาลมะพร้าว ทำขนมก็ดี ชงกาแฟก็อร่อย
นอกจากนั้น น้ำหวานจากดอกมะพร้าว ยังมีวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการหมักให้ได้ออกมาเป็นน้ำส้มสายชูจากน้ำหวานจากดอกมะพร้าว ซึ่งกลมกล่อมหากนำไปผสมทำน้ำจิ้ม หรือปรุงอาหารไทย
เป็นภูมิปัญญาที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ดังนั้น จึงดีใจที่วันนี้ได้มาเยือนอัมพวา ที่ซุกซ่อนของเด็ดของดีไว้มากมายจริงๆ