เว็บไซต์บลูมเบิร์ก สื่อด้านเศรษฐกิจและการเมือง เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองใน 3 ประเทศเอเชีย ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปีหน้า ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยระบุว่านักลงทุนต่างชาติต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น
บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงผลการเลือกตั้งในมาเลเซียช่วงปีนี้ ซึ่งชัยชนะตกเป็นของ 'มหาเธร์ โมฮัมหมัด' อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เหนือการประเมินของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและบรรยากาศการลงทุน แม้จะเป็นผลที่เกิดขึ้นเป็นระยะสั้นๆ แต่ก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายตามมา
กรณีของไทย บลูมเบิร์กระบุว่าเศรษฐกิจในประเทศช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างมีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนน แต่หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อาจจะทำให้เกิดความผันผวนหรือความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม มาร์ก โมบีอัส นักลงทุนที่มีประสบการณ์ในภูมิภาคเอเชียมาเป็นเวลานาน เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า อาจจะไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในไทยมากอย่างที่คิด เพราะการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเวลาหาเสียงที่ค่อนข้างกระชั้นชิด รวมถึงข้อห้ามต่างๆ ที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียง สถานการณ์ในไทยปีหน้าจึงอาจไม่เหมือนมาเลเซียที่อดีตผู้นำสามารถกลับคืนสู่เวทีการเมืองได้อีกครั้ง
ขณะที่สตีฟ โคเครน แห่ง APAC เตือนว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งของไทยที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 และอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย แต่คาดว่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ส่วนกรณีของ 'อินโดนีเซีย' มีกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 17 เม.ย. 2562 และเป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งของตัวเต็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เคยแข่งขันกันมาก่อนเมื่อปี 2558 ได้แก่ 'โจโก วิโดโด' หรือ 'โจโกวี' ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และปราโบโว สุเบียนโต อดีตนายทหารระดับสูงซึ่งผันตัวมาเป็นนักการเมือง ซึ่งแม้ว่าปราโบโวจะเคยพ่ายแพ้แก่วิโดโดมาก่อน แต่ในปีนี้เขาเริ่มมีคะแนนนิยมตีตื้นกับอดีตคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของประธานาธิบดีวิโดโดก็กระเตื้องขึ้นเช่นกัน เพราะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเคร่งศาสนาอิสลามภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 'มารุฟ อามิน' รองประธานาธิบดี เป็นผู้ที่มีฐานเสียงในกลุ่มชาวมุสลิมฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนเกรงว่ารัฐบาลหน้าอาจจะผลักดันนโยบายชาตินิยมหรือเคร่งศาสนาจนกระทบต่อการลงทุนในอินโดนีเซีย
ขณะที่ 'อินเดีย' ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศภายในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค.ปีหน้า และนักลงทุนประเมินว่าความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาล ภายใต้การนำของนเรนทรา โมดิ อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งยังมีสัญญาณบ่งชี้จากการลาออกจากตำแหน่งของประธานธนาคารกลางแห่งอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ก็ตามจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง