บุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน เล่าถึงความเป็นมาของปัญหาสมัชชาคนจนว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ได้รับความไม่เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องจากการที่รัฐเป็นคู่กรณี กลุ่มสมัชชาคนจน มีที่มาจากหลายพื้นที่ ทั้งหมด 36 จังหวัด ที่มายื่นหนังสือมีทั้งหมด 35 ปัญหา แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ เขื่อน ที่ดิน ราคาสินค้าตกต่ำ กลุ่มแรงงาน รวมถึงกลุ่มของอุตสาหกรรมบางสะพานที่กำลังก่อสร้าง บุญยืนยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายรัฐมามากกว่า 20 ปี แต่ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างปัญหาให้พวกเขาเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา นี่เป็นครั้งแรกของการรวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล เหตุผลที่ออกมา ด้วยจุดยืนที่ว่า พวกเขาไม่ยอมรับกับอำนาจของ คสช. ที่ยึดอำนาจประชาชนมา แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง และความเดือดร้อนที่มากขึ้น เร็วๆ นี้ จะมีการไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ป่าอีก จึงต้องรวมตัวกันเพื่อให้รัฐบาลยุตินโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจนมีหลากหลายประเด็น บุญยืนยกตัวอย่างให้เห็นถึงปัญาที่สำคัญคือ การที่ประชาชนในพื้นที่บางแห่งถูกขับไล่ให้ออกจาก "บ้าน" ของพวกเขา ที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่เมื่อรัฐทำนโยบาย "ทวงคืนผืนป่า" บังคับให้คนออกจากพื้นที่ รวมถึงกรณีของการสร้างเขื่อน ที่มีทั้งเขื่อนที่สร้างแล้วทำให้น้ำท่วมที่อยู่อาศัยคนในพื้นที่ รวมถึงโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการสร้างที่อาจสร้างผลกระทบตามมาเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้เป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐ ที่ทำให้ประชาชน "ไม่มีที่อยู่อาศัย" ซึ่งทางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการเหล่านี้
"กรณีของเขื่อนที่สร้างแล้วน้ำท่วม ยังไม่ได้มีการจัดสรรที่ดินให้ว่า จะให้ไปอยู่ที่ไหน แล้วก็จากกรณีนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐในยุค คสช. ที่ผ่านมา ก็จะมีหลายกรณีที่ชาวบ้านถูกไล่ออกจากพื้นที่ที่ตัวเองเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่หลายรุ่น หลายชั่วอายุคนแล้ว มีการไปจับแล้วก็ดำเนินคดีกับชาวบ้าน รวมถึงชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอยู่แล้วที่เขาอยู่มาดั้งเดิมก็ถูกไล่ออกจากป่า หรือถูกดำเนินคดี...ในส่วนของที่ดิน เป็นการออกประกาศเขตอุทยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปทับพื้นที่ชาวบ้านที่ปกติ พื้นที่ตรงนั้น ชาวบ้านเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว"
กรณีที่ถูกไล่ออกจากพื้นที่แล้ว รัฐไม่ได้ดำเนินการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอย่างไร?
"ถ้าคนหนุ่มสาวก็ไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม หรือไปรับจ้างทั่วไป แต่ว่า คนเฒ่าคนแก่ก็มีปัญหาว่า ต้องไปอาศัยญาติอยู่บ้าง หรือว่าไปเช่าที่คนอื่นอยู่ รัฐก็ไม่ได้เข้ามาเหลียวแลหรือแก้ไขปัญหาตรงนี้ เพราะปัญหาที่เล่ามามันไม่ใช่เพิ่งเกิด มันเกิดมาตั้งแต่ทั้งยุคก่อนหน้านี้ ร่วม 20 ปี ที่ผ่านมาแล้ว รวมถึงปัญหาใหม่ที่ผ่านมา ตั้งแต่นโยบายในยุค คสช. มีการออกพระราชบัญญัติ มีการออกกฎหมายที่ทำให้ได้รับผลกระทบ"
จริงๆ แล้ว แต่ละกรณีก็มีข้อเสนอแตกต่างกันออกไป แต่ว่าทุกคนก็ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา
ที่ผ่านมารัฐแก้ไขปัญหาอย่างไร?
"ที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุค คสช. ที่ผ่านมา รัฐไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาให้กับทางทุกเครือข่ายที่มาเรียกร้องในวันนี้ มีแต่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลยุค คสช. มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ที่เราได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง เนื่องจากว่า ถึงแม้ว่า เราจะได้รับผลกระทบ แต่เราก็เห็นว่า เราเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราจะมาเรียกร้องรัฐบาลก็เป็นคู่กรณีกับเราเอง"
"ที่ผ่านมาจริงๆ แล้ว มันไม่ได้ติดอยู่ที่ว่า แก้ได้หรือไม่ได้ มันติดอยู่ที่ว่าไม่ได้แก้ไข เพราะจริงๆ แล้วปัญหามันสามารถแก้ไขได้ เพราะจริงๆ แล้ว สมัชชาคนจนเสนอทางออกให้อยู่แล้ว แต่ว่ารัฐมนตรีแต่ละกระทรวง จะนำปัญหาของเราไปแก้ไขหรือเปล่า"
ทำไมครั้งนี้ถึงออกมาชุมนุม?
"จริงๆ มันก็เป็นสิทธิ เสรีภาพของเราที่จะออกมาชุมนุม หรือว่า ออกมาเรียกร้องสิทธิของเรา เพราะว่า เราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐ...ที่ผ่านมาเราไม่ได้ออกมาเพราะไม่ยอมรับกับอำนาจของรัฐบาล คสช. ที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม เราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่เมื่อมีรัฐบาลชุดนี้ ที่อย่างน้อยก็มาจากการเลือกตั้งบ้าง และในเดือนนี้จะมีการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าอีก ในกรณีของภาคใต้ เรามาตั้งแต่คืนวันที่ 5 ต.ค."
บุญยืน ยังบอกด้วยว่า การมารวมกันแบบนี้ แต่ละกลุ่มจะต้องออกค่าเดินทางกันเอง รวมถึงค่าเสียรายได้ จากการที่ต้องหยุดงานมาเรียกร้องเรื่องความเดือดร้อน
เห็นว่าสมัชชามีข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญด้วย ปัญหาจากรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
"รัฐธรรมนูญ ที่ถูกร่างมา ฉบับ 2560 มันก็ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน คนที่ไปร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญหลายๆ มาตรา มันทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของเรา การออกแบบรัฐธรรมนูญมันก็ทำให้เห็นว่า ออกมาเพื่อที่จะสืบทอดอำนาจ ของ คสช. เท่านั้นเอง ไม่ได้ยึดโยง หรือไม่ได้คำนึงถึงว่า ประชาชนมีความต้องการอย่างไร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกยกร่างโดยประชาชน ซึ่งมันจะมีข้อแตกต่างกัน ก็จะยึดโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ โดยที่มีการกระจายอำนาจ ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นในการที่จะ พื้นที่นี้ หรือว่า พื้นที่ไหนควรที่จะสร้างเขื่อน ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ แล้วให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม แต่ว่าในรัฐบาล ยุคนี้เอง ก็ได้มีการัดสิทธิเหล่านี้ไป แล้วก็มีหลายอย่างที่มันบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง
แม้กระทั่งเรื่องของ ส.ว. ที่ จริงๆ แล้ว ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือถ้าหากจะยกเลิก ส.ว. ก็ยกเลิกไปเลย หรือหากจะให้มี ส.ว. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มอำนาจใดกลุ่มอำนาจหนึ่ง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง