ไม่พบผลการค้นหา
‘วันนอร์’ วางวันโหวตนายกฯ 13 ก.ค. ย้ำรัฐสภาต้องทำให้มีนายกฯ คนที่ 30 ให้ได้ ชี้ รธน. ไม่จำกัดเสนอได้กี่ครั้ง หากไม่ครบ 376 เสียง อาจเสนอคนนอก แต่ถ้า ‘พิธา’ โหวตผ่านก็จบไป

วันที่ 5 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้าร่วมประชุมกับเลขาธิการสภาฯ ที่ชั้น 10 ห้องประชุมประธานสภาฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นยังมี ส.ส. ของพรรคประชาชาติทั้งหมด เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

วันมูหะมัดนอร์ คาดว่า การรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร จะมีขึ้นใน 1-2 วันนี้ และได้ประชุมเตรียมการก่อนเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

ในส่วนของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีพระบรมราชโองการมาแล้ว จะประชุมในวันที่ 12 ก.ค. นี้ โดยจะออกระเบียบวาระให้สมาชิกทราบ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะให้สมาชิกที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตน ได้ปฏิญาณตน และปรึกษาหารือกันเพื่อมีมติ ว่าในแต่ละปีจะประชุมสภาผู้แทนราษฎรกี่วัน วันใดบ้าง 

วันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวว่า การกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะต้องหารือกับสมาชิกว่าจะกำหนดวันใด ที่ผ่านมาเป็นวันพุธ และวันพฤหัสบดี แต่ตามข้อบังคับจะต้องกำหนดโดยสมาชิก อาจจะเป็น 2-3 วันก็ได้ แต่ถ้าอยากได้มากกว่านั้น ประธานสภาฯ สามารถนัดประชุมเป็นนัดพิเศษได้ 

ส่วนการประชุมรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ได้คุยกับ พรเพชร วิชิตชลวิชัย ประธานวุฒิสภา ว่า จะเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เวลา 9.30 น. ซึ่งทางรัฐสภาจะออกระเบียบวาระให้สมาชิกรับทราบ 

ส่วนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี หากไม่ผ่าน ประธานสภาฯ จะเปิดให้โหวตกี่ครั้งนั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถกำหนดครั้งได้ อาจจะผ่านในครั้งเดียวครบ 376 เสียงก็ได้ แต่ถ้าไม่ครบ 376 เสียง จะต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป และต้องดูว่าคะแนนเท่าไหร่ถึงครบ 376 เสียง หรือจะให้โหวตใหม่ ซึ่งต้องดูหน้างาน และปรึกษาฝ่ายผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง ส.ว. และ พรรคการเมือง 

“จะประชุมอีกกี่ครั้ง ประธานสภาฯ ไม่ได้มีหน้าที่กำหนด แต่มีหน้าที่เพียงผลักดันให้มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แค่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล อย่างเดียว แต่หาก พิธา ได้ ก็จบไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องหานายกรัฐมนตรีจนได้ เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้” 

เบื้องต้น มี ส.ส. ซีกฝั่งจัดตั้งรัฐบาล มีเสียง 312 เสียง ซึ่งเมื่อวานนี้แสดงให้เห็นว่า การเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ก็ได้ 312 เสียง แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่มีแค่ 312 เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียง ยังขาดอีก 64 เสียง หากยังเสนอคนเดิมแล้วยังโหวตไม่ผ่านจะสามารถเสนอคนเดิมได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด 

ถ้าบุคคลที่มีในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของ กกต. เสนอขึ้นมาแล้วไม่มีใครผ่าน ที่ประชุมอาจจะเสนอชื่อคนนอกได้ ในส่วนนี้รัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ถึงจะเสนอคนนอกเข้ามาโหวตได้ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีนายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศต่อไปได้ 

สำหรับการเสนอชื่อบุคคลเดิม หรือ บุคคลใหม่ จะต้องห่างจากการประชุมรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกกี่วันนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ต้องดูที่ความเหมาะสม และหากการประชุมนัดแรกไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องนัดประชุมใหม่อีกครั้ง เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ 

ส่วนการแถลงข่าวระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่มีเงื่อนไขต้องดัน พิธา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีให้ถึงที่สุด จะเป็นปัจจัยปล่อยให้เสนอชื่อ พิธา หลายครั้งหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เป็นข้อตกลงของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่จะเสนอหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง แต่รัฐสภาต้องทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้ามีแค่ ส.ส. อย่างเดียวจะไม่เป็นปัญหา มี 312 เสียง ถือว่าเกินครึ่งไปเยอะแล้ว แต่เนื่องจากการโหวตต้องใช้เสียง 376 เสียง ดังนั้น ต้องโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภา การนัดประชุมแต่ละครั้ง จะต้องดูความเหมาะสม ถ้าทำอะไรด้วยความเหมาะสม และเป็นประโยชน์กับประชาชน สิ่งนั้นจะบรรลุเป้าหมาย 

ส่วนการเลื่อนลำดับ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หลัง ส.ส. 2 คน จากพรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติลาออกนั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะต้องรอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯก่อน และจะเข้าสู่กระบวนการเลื่อนลำดับต่อไป.