ไม่พบผลการค้นหา
'กรุงเทพธนาคม' ลุยฟ้องแพ่งบอร์ดบริษัทชุดเก่า สร้างความเสียหาย 200 ล้านบาทจากโครงการนำท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมให้ข้อมูล ป.ป.ช.เต็มที่เอาผิดทางอาญา

วันที่ 10 ม.ค. 2566 ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยถึงโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของบริษัทฯ ซึ่งเป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้ ว่า ข้อเท็จจริงในโครงการนี้ ขอชี้แจงว่าบริษัทกรุงเทพธนาคมได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ที่ริเริ่มมาในสมัยของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งได้มอบหมายให้บริษัทดำเนินการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 โดยเมื่อครบ 33 ปีให้กรรมสิทธิ์ท่อร้อยสายใต้ดินตกเป็นของกรุงเทพมหานคร 

ต่อมาเมื่อบอร์ดชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ในเดือนมิถุนายน 2565 ได้ตรวจสอบพบความไม่ชอบ มาพากลในการดำเนินโครงการ คือ บริษัทได้ทำการลงนามสัญญาวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง (Engineering Procurement Construction : EPC) จำนวน 4 ฉบับกับบริษัทก่อสร้างเอกชน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 และต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 บอร์ดบริษัทมีมติเชิญบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ 80%ของท่อ โดยต้องจ่ายค่าใช้บริการท่อร้อยสายล่วงหน้าเป็นจำนวนเงิน 13,500 ล้านบาท ซึ่งต่อมาไม่บรรลุข้อตกลง คู่เจรจาก็ได้มีหนังสือขอหลักประกันคืนไป

ประแสง กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น เมื่อพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2562) กำหนดให้บริษัทเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว อาทิเช่น การจัดทำโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน ฯลฯ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนประเด็นนี้ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ผู้บริหารบริษัทชุดในอดีตก็ยังดำเนินการก่อสร้างไปตามสัญญา EPC 4 สัญญาที่ลงนามกันเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 ต่อไป แม้จะไม่มีผู้ใช้บริการรายใหญ่มาร่วมลงทุน และไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2565 บอร์ดบริษัทก็ยังได้อนุมัติโครงการก่อสร้างต่อเนื่องกับโครงการท่อร้อยสายสื่อสารนี้อีก คือการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพร้อมระบบแพลทฟอร์ม เส้นทางถนนพระรามที่ 1 โดยทำสัญญาว่าจ้างบริษัทก่อสร้างเอกชนเข้ามาก่อสร้าง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่บริษัท

ทั้งนี้หลังจากที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานและพบความผิดปกติต่างๆ ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินการสอบสวนและไล่ออกพนักงานจำนวนหนึ่งโดยความผิดทางวินัยร้ายแรงแล้ว ดังนั้นจึงต้องดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนประมาณ 200 ล้านบาทจากผู้เกี่ยวข้องที่สร้างความเสียหายแก่บริษัท ซึ่งค่าใช้จ่ายโครงการก็มาจากภาษีอากรของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเช่นกัน

ประแสง กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับคดีอาญานั้น ป.ป.ช.กำลังดำเนินสอบสวนอยู่ตามข้อร้องเรียนที่มีอยู่เดิมในอดีตและได้เชิญตนในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของบริษัทไปให้ปากคำพร้อมทั้งชี้แจงแสดงเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานของบริษัทภายใต้การนำของผู้บริหารชุดใหม่เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ทุกโครงการและไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อบริษัทและกรุงเทพมหานครดังเช่นที่ผ่านมา