เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เปิดเผยภายหลังการประชุมระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เทียบกับอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง พบว่าอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันสะท้อนราคาน้ำมันที่ระดับ 27 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลปรับราคาขึ้นมาเป็น 35 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถโดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนและเตรียมปรับลด - หยุดเที่ยววิ่ง
โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางหมวด 2 (วิ่งระหว่างกรุงเทพ-ต่างจังหวัด) และ หมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด-จังหวัด และ อำเภอ-อำเภอ) ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในอัตรา 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับขึ้นแล้วเท่าทุน และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้ อีกทั้งไม่เป็นผลกระทบต่อประชาชนผู้โดยสารจนเกินไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.นี้ ส่วนรถ บขส. ยังให้ตรึงค่าโดยสารต่ออีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน พร้อมให้เตรียมรถให้เพียงพอต่อความต้องการเดินทางของประชาชน
ด้าน พิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับทราบมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางแล้ว ขณะนี้เตรียมทำหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการขนส่งเอกชน และรถร่วม บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ทราบว่ารัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในปรับขึ้นค่าโดยสาร ในอัตรา 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ดังนั้นการที่รัฐช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการธุรกิจต่อไปได้ ในสภาวะที่เกิดวิกฤติน้ำมันแพงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์จะปรับลดเที่ยววิ่ง 80% ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหวนั้น ขอให้ทุกบริษัทยกเลิกแผนดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อน และขอให้ผู้ประกอบการจัดเดินรถตามปกติ สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารต่อไป โดยเฉพาะในเดือน ก.ค.นี้ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน และคาดว่าผู้โดยสารจะใช้รถโดยสารในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวจำนวนมาก