ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป พร้อมคาดการณ์ปีนี้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติร้อยละ 5 ขอเกษตรกรวางแผนการใช้น้ำ ในขณะที่บางจังหวัดยังประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2563 โดยกล่าวว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือน ต.ค. ในระยะแรกของฤดูปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้

สำหรับช่วงปลาย มิ.ย.-กลาง ก.ค. จะมีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1-2 ลูก ส่วนบริเวณภาคใต้นั้นจะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือน ม.ค. 2564

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อในช่วงท้ายว่า แม้ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 แต่ปริมาณของฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว ขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน วางแผนสำรองน้ำในช่วงที่มีฝนตกน้อย รวมทั้งวางแผนป้องกันผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว สาธารณสุข อุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป ควรวางแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ รวมทั้งกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ภายหลังสิ้นสุดฤดูฝนต่อไปด้วย


ภัยแล้งยังหนักเกษตรกรต้องต้อนฝูงวัวหาอาหารไกลนับ 10 กม.

ส่วนวานนี้ (17 พ.ค.) เกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ ต้อนฝูงวัวลงลี้ยงในอ่างเก็บน้ำเพื่อให้กินหญ้าสด หลังในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดหญ้าและน้ำตามธรรมชาติ เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ต้องต้อนฝูงวัวจำนวนกว่า 150 ตัว มาเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำคลองโพ อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ หลังหญ้าสดตามทุ่งนาธรรมชาติขาดแคลนเนื่องจากปัญหาภัยแล้งคุกคามอย่างยาวนาน 

เกษตรกรผู้เลี้ยงฝูงวัว เปิดเผยว่าในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างยาวนาน แหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่เคยใช้เลี้ยงวัวได้หมดลงไปหลายเดือนก่อนหน้านี้ตนเองต้องซื้อฟางอัดก้อน และต้องต้อนฝูงวัวออกหาหญ้าไกลออกไปกว่า 10 กิโลเมตร

ล่าสุดจากปัญหาภัยแล้งดังกล่าวทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองโพในพื้นที่น้ำแห้งจนเป็นเนินดินและมีหญ้าสดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตนจึงต้องต้อนฝูงวัวลงหากินในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเพื่อให้วัวได้ลงไปกินหญ้าสดและน้ำที่ขังอยู่ตามก้นอ่างเก็บน้ำที่เพิ่งแห้ง เพราะเป็นแหล่งอาหารเดียวที่ยังพอหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ ซึ่งตกเย็นจะนำวัวทั้งหมดเข้าคอกและหาน้ำให้กินอีกครั้ง


ผู้ว่าฯ ขอนแก่นนำจิตอาสากำจัดวัชพืชแก้ภัยแล้งแบบบูรณาการ

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นและผู้อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดขอนแก่น นำคณะจิตอาสาพระราชทาน ทั้งทหารสังกัดมณฑลทหารที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาแก้ปัญหาภัยแล้ง กำจัดวัชพืชภายในอ่างเก็บน้ำและพัฒนาภูมิทัศน์รอบๆบริเวณให้มีความสวยงาม

noname.png


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำพวง เป็นพื้นที่แก้มลิงมีพื้นที่รวมหนองกองแก้ว กุดละว้า แก่งละว้า เป็นหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงบริเวณลำน้ำชี สามารถสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ ปัจจุบันแหล่งน้ำนี้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแก้มลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีสภาพตื้นเขิน ฤดูน้ำหลากประสบปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มบริเวณโดยรอบประจำเกือบทุกปี และในช่วงฤดูแล้งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค 

ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน จึงมีมติให้ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮด และสำนักงานโครงการชลประทานจังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติอ่างน้ำพวง ให้สามารถทำหน้าที่เป็นแก้มลิงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา วัชพืชลอยน้ำ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมพัฒนาคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว แก่งละว้า และกุดละว้า ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

noname.png


กิจกรรมดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในชุมชน ที่จะมีพื้นที่เก็บน้ำสะอาด ปราศจากวัชพืช ให้น้ำมีคุณภาพดี มีปริมาณมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ดีขึ้นแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ เพิ่มพื้นที่แก้มลิงในการเก็บกักน้ำ ลดการตื้นเขินในช่วงฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การประมง การชลประทาน และอุปโภคบริโภคได้ มีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทัศนียภาพสวยงาม ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากวัชพืชลอยน้ำ ผักตบชวา เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้ทดแทนปุ๋ยและสารเคมี เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้แรงงานจากประชาชนจิตอาสาพระราชทาน และประชาชนทุกภาคส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้