ไม่พบผลการค้นหา
'ปดิพัทธ์' หนุนถ่ายทอดสด กมธ.งบ 67 ป้องกัน สส.นอนกรน-เช็กชื่อแล้วหาย ช่วยให้ประชาชนเห็น สส. ที่ทำงานกล้าหาญ ชี้ไม่ใช่เล่นละคร แต่ปรับพฤติกรรมให้โปร่งใส

วันที่ 10 ม.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ กรณีที่โพสต์แสดงความเห็นการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ 2567 โดยระบุว่า เป็นการประชุมเรื่องของประชาชน ถ้าเป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เราเข้าใจว่าจะให้เปิดการประชุมปิด แต่เรากำลังพูดถึงแผนพัฒนาประเทศงบประมาณในจังหวัดต่างๆ และโครงการใหญ่ใหญ่อย่างแลนด์บลิดจ์ คิดว่าประชาชนควรจะต้องรู้ 

ทั้งนี้ ยังไปประจวบเหมาะกับที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอในที่ประชุม เป็นข้อถูกเถียงเดิมๆ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ แบ่งได้เป็นสองประเด็นคือ เรื่องแรก ข้อบังคับการประชุมสภา สามารถนำมาใช้กับการประชุมคณะกรรมาธิการได้หรือไม่ ซึ่งความจริงเป็นการใช้แบบอนุโลม คืออำนาจของประธานสภาจะไปอยู่ที่ประธานกรรมาธิการ แต่ ข้อบังคับอื่นๆ ยังเหมือนข้อบังคับ การประชุมสภาฯ ดังนั้นในเมื่อการประชุมสภาฯ มีการถ่ายทอดสดตลอดเวลา การประชุมกรรมาธิการ ก็ควรเป็นอย่างนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าปิดทางไปหมด 

ส่วนอีกประเด็นคือ การหารือในกรรมาธิการ อย่างที่ทราบกันว่าเป็นการหารือของแท้ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ สามัญซึ่งสมัยที่ตนเข้ามาเป็นสส.สมัยแรก ก็ผิดหวังกับการทำงานของกรรมาธิการสามัญ เพราะบางครั้งก็ไม่ได้พูดกันในเรื่องของเนื้อหาสาระ บางคนมาเซ็นเช็คชื่อแล้วก็ไม่เข้าประชุม รวมถึงยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของสมาชิก บางท่านก็นอนหลับกรนเสียงดังก็มี บางท่านหันไปพูดคุย ทำธุระส่วนตัว และหากถ่ายทอดสดพฤติกรรมเหล่านี้จะหายไป ประชุมใหญ่เพราะทุกคนจะต้องทำตัวให้ดีเหมือนอยู่ในห้องประชุมใหญ่ 

"ผมมองว่าการทำตัวให้ดีเหมือนในห้องประชุมใหญ่ ไม่ใช่การเล่นละคร แต่เป็นการทำงานภายใต้ การจับจองของประชาชนและสื่อมวลชน พฤติกรรมต่างๆ จึงจะต้องแสดงออกมาอย่างดีไม่ใช่การเล่นละครแต่อย่างใด แต่เป็นการช่วยกันทำให้การประชุมอยู่ภายใต้ความโปร่งใส ตรวจสอบได้" ปดิพัทธ์ กล่าว 

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีกรรมาธิการงบประมาณรายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นว่า หากมีใครนำการถ่ายทอดสดการประชุม กมธ.งบประมาณ ไปถ่ายทอดซ้ำ แล้วถูกฟ้อง คนรับผิดชอบก็ต้องเป็นคนที่ถ่ายทอดสดคนนั้น ซึ่งมองว่าเป็นความกลัวที่ สร้างขึ้นมา เพราะตนเองก็ไม่รู้ว่าจะไปฟ้องร้องเรื่องอะไร และความจริง ยังมีกลไกของอนุกรรมมาธิการ ที่สามารถถกเถียงในรายละเอียดได้ ซึ่งตนคงไม่ไปเรียกร้องให้ถ่ายทอดสดในชั้นอนุด้วย  

"ผมคิดว่าในสามัญสำนึก สามารถถ่ายทอดสดได้ และยืนยันว่าเรื่องใด ที่ประธานคณะกรรมาธิการวินิจฉัย ว่าจำเป็นต้องงดการถ่ายทอดสด ก็งดได้ และความจริง ผมอยากให้ถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์รัฐสภาด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่ใน Facebook" ปดิพัทธ์ กล่าว 

เมื่อถามว่า ผู้ที่แย้งว่าหากมีการถ่ายทอดสดจะทำให้ ข้าราชการที่มาให้ข้อมูลไม่กล้าพูดความจริง เพราะเกรงกลัว ปดิพัทธ์ ระบุว่า เข้าใจได้ที่เจ้าหน้าที่อาจจะเกรง แต่เคยเห็นการประชุมกรรมาธิการที่ไม่มีใครเกรงใจใครเลยหรือไม่ พูดอะไรตามใจชอบ พูดจาแย่ๆ ได้ตลอดเวลา หรือบางหน่วยงานเรียกแล้วเรียกอีก ไม่มาประชุม ประชาชนก็ไม่ทราบ ความจริงแล้วข้าราชการสามารถชี้แจงด้วยวาจา เรื่องที่เป็นชั้นความลับก็ส่งเป็นเอกสารได้ ไม่มีทางเลือกอยู่ ห้องประชุมใหญ่ก็ไม่ได้พูดทุกเรื่อง 

"ส่วนที่ข้าราชการอาจเกรงกลัว ผมคิดว่าผู้ที่พูดความจริง จะกล้าพูด สส. หลายคนในชั้นกรรมาธิการ ก็ทำงานอย่างกล้าหาญ แต่ไม่ได้เป็นดาวสภาฯ เพราะไม่มีใครรู้การทำงานของเขาในชั้นกรรมาธิการ ดังนั้นการถ่ายทอดสดก็จะเป็นผลดีต่อสมาชิกที่ตั้งใจทำงานด้วย" 

ส่วนสภาฯ โปร่งใสมีข้อติดขัดอย่างไรบ้างนั้น ปดิพัทธ์ ระบุว่า ยังมีเรื่องของวัฒนธรรม ความระแวงการถ่ายทอดสด ซึ่งความจริงก็ระแวงทุกเรื่องที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในสภาฯ เช่นการจะเปิดใช้ลานประชาชน ก็ระแวงว่าจะมีการก่อจราจลหรือไม่ จะเอาเด็กไปนั่งบนบัลลังก์สภาฯ ก็เกรงว่าจะทำให้อุปกรณ์เสียหายหรือไม่ แต่การระแวงเป็นเรื่องปกติ ก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ แต่ที่น่าเสียดายคือ ข้อบังคับของการประชุมสภาฯ ไม่ได้รับการปรับปรุง ให้ได้รับความโปร่งใส ข้อบังคับสภาฯก้าวหน้า ที่สมาชิกพรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ ตนก็ไม่ได้เห็นด้วยหมดทุกข้อ แต่บางข้อก็สำคัญ จะให้การทำสภาฯ โปร่งใสง่ายขึ้น แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เกิดขึ้น