ไม่พบผลการค้นหา
นักสังเกตการณ์คาดว่า ผลการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือที่เวียดนามในสัปดาห์นี้ จะยังไม่ไปไกลถึงประเด็นการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ โดยทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเฉพาะบางประเด็นที่แต่ละฝ่ายต้องการในเบื้องต้นก่อน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ถึงแม้ยังไม่มีการเปิดเผยร่างข้อตกลงสำหรับการเจรจาระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 27 ก.พ. และวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ. กรุงฮานอย แต่คาดกันว่าผู้นำทั้งสองจะบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมบางประการที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ก่อน ส่วนประเด็นการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์นั้น อาจเก็บไว้เจรจาในขั้นต่อไป

ที่ผ่านมา ทรัมป์เป็นฝ่ายเปิดฉากรุกโดยยื่นข้อเรียกร้องว่า เกาหลีเหนือต้องกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ไม่สามารถรื้อฟื้นโครงการได้อีก โดยเปิดรับการตรวจพิสูจน์จากนานาชาติ

เกาหลีเหนือยอมรับข้อเรียกร้องนี้ โดยรับปากในการประชุมที่สิงค์โปร์ ว่า “เกาหลีเหนือให้คำมั่นที่จะดำเนินการไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงบนคาบสมุทรเกาหลี”

นับจากสิงคโปร์ซัมมิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันหลายครั้ง โดยเกาหลีเหนือยื่นข้อเรียกร้องกลับ ว่า การกำจัดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ต้องดำเนินการทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายต้องยอมถอยทีละก้าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และในแต่ละขั้นตอนต้องมีการตอบสนองความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างสมน้ำสมเนื้อ

ทรัมป์ดูจะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว โดยบอกว่า เขาไม่รีบร้อนในประเด็นการรื้อถอนโครงการนิวเคลียร์ และตกลงที่จะพบกับคิมจองอึนเป็นครั้งที่สองที่เวียดนาม

นักสังเกตการณ์บอกว่า ในฮานอยซัมมิตครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรักษาบรรยากาศของการเจรจาเพื่อให้สามารถเดินหน้าไปสู่การแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ได้ ดังนั้น คาดกันว่า ทรัมป์กับคิมจะเริ่มจากประเด็นที่ตอบสนองความต้องการของกันและกันก่อน

นั่นคือ เกาหลีเหนืออาจเสนอที่จะปิดโรงงานนิวเคลียร์ที่เมืองยองเบียน พร้อมกับทำลายฐานขีปนาวุธที่เมืองดงชางรี โดยสหรัฐฯจะตอบแทนเกาหลีเหนือด้วยการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร และออกคำประกาศยุติสงครามเกาหลี รวมทั้งอาจเปิดสำนักงานติดต่อของสหรัฐฯในกรุงเปียงยางด้วย นอกจากนี้ สหรัฐฯอาจแถมรางวัลตอบแทนอื่นๆอีก เช่น เลิกห้ามชาวอเมริกันเดินทางเข้าเกาหลีเหนือ

สำหรับประเด็นการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์นั้น เกาหลีเหนือยื่นเงื่อนไขว่า จะดำเนินการต่อเมื่อได้รับหลักประกันความมั่นคง เช่น สหรัฐฯถอนหรือลดทหารอเมริกันในเกาหลีใต้ ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพยุติสถานะสงครามกับเกาหลีเหนือ และถอนกำลังนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถในการโจมตีเกาหลีเหนือ

ดังนั้น นักสังเกตการณ์คาดว่า ผลการหารือระหว่างทรัมป์กับคิมที่กรุงฮานอย จะยังไม่ไปไกลถึงประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยเกาหลีเหนือจะยังคงถือครองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปจนกว่าจะได้รับหลักประกันความมั่นคง.