ไม่พบผลการค้นหา
ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร เผย คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เตรียมเดินหน้าตรวจสอบ การขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยเฉพาะความเร่งรีบในการใช้ม.44 เปิดทางขยายสัญญา 40 ปี ไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติด่วนขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสัญญาสัมปทาน ระบุว่า หลังตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย ซึ่งจะพิจารณาเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย มาชี้แจง โดยเฉพาะประเด็นการใช้มาตรา 44 ขยายสัญญาสัมปทาน

เนื่องจากครั้งแรกที่เปิดเดินรถ ตั้งแต่สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช บริษัทบีทีเอส ยังเหลืออายุสัมปทานอีก 10 ปี จากนั้นกรุงเทพมหานคร เดินหน้าส่วนต่อขยาย จากสถานีอ่อนนุชถึงแบริ่ง และจากสถานี สาทรถึงวงเวียนใหญ่ โดยกรุงเทพมหานคร มอบให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้รับสัญญาสัมปทานไปดำเนินการ และบริษัทกรุงเทพธนาคมได้จ้างให้บริษัท BTS เป็นผู้เดินรถ จึงทำให้บริษัท BTS ได้เป็นผู้เดินรถในส่วนต่อขยายรอบ 2 และยังเหลือเวลาอีกถึง 23 ปีจะครบอายุสัมปทาน ซึ่งนายยุทธพงศ์เห็นว่า การต่อขยายสัญญาสัมปทานจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่รัฐบาลกลับใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจากับบริษัท BTS โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการเจรจา 

โดยจะพูดคุยเรื่องการต่อสัญญาอายุสัมปทานไปอีก 40 ปี นอกจากนี้ยังเห็นว่าส่วนต่อขยาย มีเส้นทางเชื่อมไปถึงจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเส้นทางดังกล่าวมีระยะ ค่อนข้างยาว จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด บริษัทรถไฟฟ้ามหานคร หรือรฟม.ไม่เปิดให้เอกชนรายอื่นมาแข่งขันเพื่อการเดินรถ กรณีดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะบริษัท BTS ไม่ได้อยู่ในพ.ร.บ.ร่วมทุน รายได้ต่างๆจึงไม่ต้องแบ่งให้รัฐ และอาจทำให้เอกชนรายนี้ ไม่พัฒนาการเดินรถให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มโบกี้โดยสารเพื่อลดความแออัด หรือการลดค่าโดยสารที่ประชาชนต้องจ่ายในราคาสูง

นายยุทธพงศ์มองว่าความเร่งรีบที่เกิดขึ้น ส่อถึงความไม่โปร่งใส และเจ้าของสัมปทานเองก็ไม่ได้ถูกฟ้องร้อง แต่เหตุใดจึงรีบเร่งต่อสัญญาทั้งที่ สัญญารอบแรกและสัญญารอบ 2 ในส่วนต่อขยายยังเหลืออีกเวลาอีกถึง 10 ปีและ 23 ปี ดังนั้นในการประชุม คณะวิสามัญฯ จะพิจารณาเรียกปลัดกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพมหานคร และบริษัทเอกชนเข้ามาพูดคุยเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเด็น ความเร่งรีบในการต่อสัญญาสัมปทานและการไม่เข้าร่วมพ.ร.บ.ร่วมทุน ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ พร้อมสอบถามถึงการบริการของบริษัทบีทีเอสว่าเหตุใดจึงไม่เพิ่มขบวนรถ และปรับลดราคาค่าโดยสารตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม