วันที่ 23 ส.ค. เวลา 09.30 น. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายแรงงาน และสหภาพคนทำงาน นัดรวมตัวบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า สินค้าแพง ทวงถามนโบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 ตามที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดไว้
ธนพร วิจันทร์ (ไหม) ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ประชาชนทั่วไปกำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่รัฐบาลกลับไม่มีแนวนโยบายที่ชัดเจนสำหรับปัญหาดังกล่าว ในขณะที่นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หาเสียงไว้คือ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท กลายเป็นนโยบายขายฝันไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงมีการศึกษาว่า สามารถทำได้จริง แต่เป็นเพราะรัฐบาลห่วงใยในผลประโยชน์ของกลุ่มทุน รวมทั้งวันนี้ถือเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ จึงออกมารวมตัวขับไล่ เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกโดยทันที
“ตั้งแต่รัฐบาลนี้เริ่มบริหารประเทศมาเราก็พยามเรียกร้อง แต่เขาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้ ค่าแรงไม่ปรับขึ้น พอเจอปัญหาโควิดช่วงที่ผ่านมาหลายคนตกงาน และรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงได้ รวมทั้งคุณประยุทธ์ก็อยู่ในตำแหน่งมาครบ 8 ปีแล้ว ก็ควรจะออกจากตำแหน่ง เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน” ธนพร กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ธนพร ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาเผยว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 5-8 เปอร์เซ็น แต่ในฐานะที่ สุชาติ ชมกลิ่น เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ สิ่งที่ควรทำคือ การนำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้มาทำให้เป็นจริงมากกว่าการประวิงเวลา และการปรับค่าแรงเพียง 5-8 เปอร์เซ็นนั้นไม่สอดคล้องต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
ต่อมา 10.30 น. ทางกลุ่มได้เคลื่อนขบวนประชิดแนวกั้นของเจ้าหน้าทั้ตำรวจ โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยจากแรงงานหลายประเภท อาทิ กลุ่มไรเดอร์ กลุ่มแรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มแรงงานสร้างสรรค์
พร้อมอ่านแถลงการณ์ย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลทำตามสัญญาหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 โดยเพิ่มค่าแรงขั้นเป็น 425 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ และให้ประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคม 2565 และเพิ่มเป็น 492 บาทต่อวันภายในเดือนมกราคม 2566
2.ให้ลดราคาน้ำมันทุกชนิดลง 6 บาทต่อลิตา ลดราคาสินค้าอุปโภค ค่าครองชีพให้กับประชาชน
3.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอช่ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมตรีภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
สำหรับเครือข่ายที่ลงนามในแถลงการณ์ข้อเรียกร้องมีดังนี้ สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ, กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี และใกล้เคียง, สหพันธ์แรงงานวัสดุก่อสร้าง และเซรามิค, เครือข่ายแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา, สกพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์, สหพันธ์แรงงานกระดาษและสิ่งพิมพ์แห่งประเทศไทย, เครือข่ายกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายอรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, สหภาพไรเดอร์, สหภาพแรงงานสร้างสรรค์, สหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่, สหภาพคนทำงาน, กลุ่มคนทำงานแม่บ้านออนไลน์, สหภาพแรงงานการทอแห่งประเทศไทย และคณะรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ค.ร.ช.)