ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะอดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เรื่องใหญ่คือการถูกเลิกจ้างและปัญหาการว่างงาน ซึ่งจะเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่เคยเผชิญมาก่อนและจะเป็นวิกฤตที่หนักกว่าต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเมื่อมองยุทธศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาจะพบว่า รัฐยังหวังพึ่งกับธุรกิจขนาดใหญ่มากเกินไป จนทำให้ประชาชนในระดับล่างและธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้รัฐยังไปกังวล และเน้นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่มากเกินไป ทั้งที่ภาคธุรกิจเหล่านี้สามารถช่วยตัวเองได้
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน รวมถึงการยกระดับภาคการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทย และเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างคือความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บวกกับการ ที่รัฐบาลออกมาตรการล็อคดาวน์ จึงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กระทบผู้มีรายได้น้อย
"เราต้องหยุดยั้งการว่างงานให้ได้นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดเพราะว่าพอคนไม่มีงานทำคนว่างงานคนถูกเลิกจ้างมากๆมันจะนำไปสู่ปัญหาอื่นมันจะนำมาสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจอื่นๆแล้วก็นำมาสู่ปัญหาทางสังคมและปัญหาทางการเมือง"
นายอนุสรณ์ เห็นว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณจากการกู้เงิน จะช่วยบรรเทาปัญหาความ เดือดร้อน ได้ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากจะหวังให้เกิดการฟื้นตัวในระยะยาวจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งปรับโครงสร้างเพื่อชดเชยความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสถานะของเม็ดเงินจะต้องใหญ่พอ หรือต้องใช้มากกว่าเดิม 2-3 เท่านั่นหมายความว่าอาจต้องกู้เงินมากขึ้น
ซึ่งจะติดปัญหาเรื่องฐานะทางการคลัง เพราะสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP ปีหน้าคาดว่าจะชนเพดานที่ร้อยละ 60 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหา แต่นั้นยังไม่น่ากังวลเท่ากับการที่ประชาชนถูกเลิกจ้างหริอว่างงาน ดังนั้นหากจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติมก็ต้องดำเนินการ แต่การดำเนินการจะต้องมียุทธศาสตร์บูรณาการอย่างมีเป้าหมาย ไปสู่คนที่เดือดร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐจะต้องทำให้เกิดการจ้างงาน ทุกคนจึงจะมีรายได้ช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งความหวังเดียวคือการลงทุนจากภาครัฐ เพราะเราไม่สามารถคาดหวังจากภาคเอกชนในสถานการณ์เช่นนี้ได้ จึงต้องพิจารณาโครงการต่างๆอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ ไม่เชื่อว่าการปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะสามารถแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญเนื่องจากเรายังไม่ได้แก้ไขปัญหาในเชิงระบบ หรือเชิงโครงสร้าง โดยเห็นว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหาร มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริตมากเพียงใด แต่จะทำงานยากเพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบให้รัฐบาลอ่อนแอ เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งมีที่มากว่า 20 พรรคการเมือง ดังนั้นการจะหาทีมเศรษฐกิจ ที่มีเอกภาพจึงเป็นไปได้ยากเพราะกระทรวงเศรษฐกิจจะอยู่ใต้การกำกับดูแลของหลายพรรคการเมือง ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องแก้ที่โครงสร้างและระบบโดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญ ที่ต้องทำให้พรรคการเมืองมีความ
8.3 ล้านคนเสี่ยงตกงาน
ทั้งนี้ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2563 จะหดตัวกว่าร้อยละ 5 และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีกว่าที่จะกลับไปสู่ระดับการเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19 จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในวันนี้ (30 มิ.ย.2563) พบว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2563 โดยมีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน นอกจากนี้ธนาคารโลกยังประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จะมีคนตกงานหรือสูญเสียการจ้างงานประมาณ 8.3 ล้านคนจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจะทำให้งานมากมายโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง
อ่านเพิ่มเติม