หนนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ ‘หมอโอ๊ค – นายแพทย์สมิทธิ์ อารยะสกุล’ ผู้ก่อตั้ง CLP Living จะพาเราไปรู้จักกับพันธมิตรคนสำคัญอย่าง ‘ศาลานา’ ที่ร่วมมือกันผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพดีมาส่งตรงถึงบ้าน เพื่อให้คนไทยได้สัมผัส ‘ชีวิต’ ที่แท้จริงของข้าวในทุกครัวเรือน
“เราอยากนำเสนอแง่มุมและทัศนคติต่อข้าว มองข้าวอย่างมีคุณค่า ยกระดับข้าวของประเทศไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดต้นน้ำของเราคือชาวนาต้องอยู่ได้” หมอโอ๊ค เอ่ยถึงความตั้งใจและความร่วมมือกับศาลานา โดยบอกว่าเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกันลงตัวพอดีเพราะเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม และแนวคิดในการทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค
บริเวณกลางนาออร์แกนิคในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติสีเขียว จากฝนที่เทลงมาตลอดคืน ‘โอ๊ต – วุฒิพงศ์ ชาครัตพงศ์’ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายชุมชนโครงการศาลานา เริ่มต้นไขคำตอบในทุกกระบวนการของ ‘ข้าวอินทรีย์’ ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ
“เราทำงานกับข้าวมาเกือบ 10 ปี ทุกครั้งที่ลงพื้นที่จะเห็นศาลาสำหรับพักผ่อนอยู่เสมอ คอยให้ความร่มเย็น ให้ที่พักพิงกับชาวนา คำว่า ศาลานา ก็มาจากตรงนี้เอง เราอยากส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้”
ศาลานา จดทะเบียนในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม และคืนกำไรสู่สังคมทั้งหมด โอ๊ต เล่าให้ฟังว่า ข้าวอินทรีย์ คือกุญแจสำคัญในการทำงานของศาลานา เพราะอาหารปลอดภัยคือเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกคน
“เรามุ่งที่จะส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตข้าวคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็สื่อสารไปยังผู้บริโภคถึงความสำคัญของการบริโภคข้าวอินทรีย์ ทำทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กัน ศาลานาชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอาหารปลอดภัย จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม”
ไม่เผาฟาง ไม่ใช้สารเคมี ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตอบสนองในระบบอินทรีย์ ไล่ไปจนถึงกระบวนการจัดเก็บ และแปรรูป ทุกผลิตภัณฑ์ที่ออกจากศาลานาจะไม่ทำไรอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศคือปรัชญาในการทำงานของพวกเขา ซึ่งส่งผ่านไปยังสมาชิกเกษตรกร
ถัดจากท้องนาที่อุดมสมบูรณ์ ณ ทางเดินอันร่มรื่นที่โรยด้วยก้อนหิน มีแนวไผ่สูงตลอดทางเพื่อป้องกันสารเคมีโดยรอบข้ามาสัมผัสข้าวอินทรีย์ ‘ป๊อป – ณรงค์ กลิ่นถือศีล’ เกษตรกรที่หันมาทำนาอินทรีย์ เริ่มเล่าความภูมิใจในฐานะผู้ผลิต ‘อาหารปลอดภัย’ ให้คนไทยได้กิน
“แนวไผ่ของเราเปรียบเสมือนแนวกันชน ที่เอาไว้กันสารเคมีจากนารอบข้าง ทุกอย่างที่เราทำมีรายละเอียดทั้งหมด ผมหันมาทำเกษตรอินทรีย์ได้ประมาณ 5 - 6 ปีแล้ว จุดเปลี่ยนคืออยากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนได้กินอาหารที่ปลอดภัยขึ้น สุขภาพของเราที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีก็ดีขึ้นตามไปด้วย”
แม้จะเป็นเกษตรกรจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของพวกเขายังห่างไกลจากคำว่า ลืมตาอ้าปาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับผู้ที่ผลิตอาหารป้อนประเทศ การทำธุรกิจของ CLP Living จึงยึดหลักความยั่งยืนเป็นสำคัญ
“เราไม่เคยคิดจะเน้นกำไรมากๆ ในการทำธุรกิจ โดยไม่สนใจผู้ร่วมเป็นจิ๊กซอว์กับเราเลย อยากมองภาพไปให้ไกลกว่านั้น คือทำให้ข้าวของไทยได้รับการยกระดับ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ได้” หมอโอ๊ค กล่าวถึงปนิธานในการทำธุรกิจ
ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงเกษตรกรมาตลอด ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายชุมชนโครงการศาลาเล่าต่อว่าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยกำลังขยายตัวมากขึ้น มีเกษตรกรหน้าใหม่หันมาให้ความสนใจ และกำลังไปได้ดีในแง่ธุรกิจ
“เพราะทุกอย่างที่ข้าวอินทรีย์ต้องการสามารถหาได้จากธรรมชาติ” โอ๊ต บอกว่าแท้จริงแล้วการไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้นโดยยกตัวอย่างที่การหมักฟางที่จะสร้างความเป็นอินทรีย์ให้เกิดขึ้นในดิน และเป็นต้นกำเนิดของธาตุอาหารสำคัญเช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส หรือโพแทสเซียม ต่อมาไม่ว่าจะเป็นการกำจัดแมลง เก็บเกี่ยว หรือนำไปแปรรูปต่อ ก็สามารถทำให้เป็นอินทรีย์อย่างเต็มตัวได้
“การเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมและทำให้อาหารมีความปลิดภัยมากขึ้น จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้สังคม ทั้งสุขภาพของผู้บริโภค สุขภาพและรายได้ของเกษตรกร สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้นด้วย”
"ผมคาดหวังว่าเกษตรอินทรีย์จะแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า อาหารที่เรากินทุกอย่างควรจะปลอดภัยไม่ว่าเราจะอยู่มุมไหนของประเทศ นี่คือความคาดหวังของผมในฐานะเกษตรกร" - ณรงค์ กลิ่นถือศีล
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการกินอาหารที่ปราศจากสารเคมีย่อมส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาว แต่เบื้องหลังสุขภาพดียังมีอะไรมากกว่านั้น เมื่อ ‘เกษตรอินทรีย์’ ยังมีมิติที่น่าสนใจในทางเศรษฐกิจอีกด้วย
“แน่นอนอยู่แล้วว่าเกษตรอินทรีย์ดีต่อผู้บริโภค และปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน การจะส่งออกหรือเพิ่มมูลค่า กระแสหนีไม่พ้นการเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะดีดนิ้วแล้วกระโดดข้ามไปเป็นมาตรฐานระดับโลก การส่งออกข้าวของไทยอยู่ในลำดับต้นๆ มาโดยตลอด แค่ข้าวที่คุณภาพดีกลับกลายเป็นเปอร์เซ็นต์เล็กๆ
หลายคนบอกว่าข้าวคุณภาพสูงเป็นตลาดที่เล็กมากและไม่สามารถทำได้จริง รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย ผมเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในคุณภาพ ในเมื่อประเทศไทยเรามีข้าวอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ลองเสนอมันออกมาก่อนที่คนอื่นจะทำ” หมอโอ๊ค ชี้ให้เห็นพื้นที่ในตลาดข้าวอินทรีย์ที่ยังเปิดกว้าง
นอกจากรสชาติ สัมผัส หรือกลิ่นที่ลอยกรุ่นออกมาจากข้าวที่ขัดสดใหม่แล้ว หมอโอ๊ค ยืนยันว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ทั้งในแง่ของรสชาติ การจัดเก็บ หรือการตรวจสอบคุณภาพนั้นเป็นเรื่องทีขาดไปเสียมิได้สำหรับผู้ประกอบการอาหาร
“การที่จะบอกว่าข้าวดี หรือหอมอย่างไรต้องมีข้อมูลรับรอง สิ่งที่จะออกไปสัมผัสกับผู้บริโภคจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพ และต้องผ่านการตรวจอย่างมืออาชีพโดยนักวิทยาศาสตร์จริงๆ ”
หัวใจของเกษตรอินทรีย์หลังการเก็บเกี่ยวคือกระบวนการแปรรูป ศาลานายืนยันว่าไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่กะเทาะเปลือกจนส่งถึงมือผู้บริโภค และผ่านการดูแลอย่างเคร่งครัดโดย ‘ดร.อรนุช หน่อแก้ว’ ที่ปรึกษาด้านวิจัย และพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์โครงการศาลานา
เธอเล่าให้ฟังว่าหัวใจสำคัญของการเก็บรักษาข้าวให้สดใหม่คือคือ ‘เก็บข้าวในรูปแบบของข้าวเปลือก’ ที่มีงานวิจัยรับรองว่าจะทำให้สารอาหารที่มีประโยชน์อย่างโปรตีน ไขมัน และสารต้านอนุมูลอิสระ ยังคงปริมาณสูง
“ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพหลังจากสี ก็จะแพ็กสูญญากาศ เพราะจะช่วยลดการเกิดปฏิกริยาออกซิเดชั่นของไขมันในข้าว เพื่อรักษาสารสำคัญต่างๆ ให้ครบถ้วน”
“เรามองข้าวเป็นสิ่งสามัญประจำบ้านเกินไป” หมอโอ๊ค บอกว่าแม้ประเทศไทยจะมีกำลังผลิตข้าวติดอันดับโลกมาโดยตลอด แต่น่าเสียดายว่าในด้านการบริโภคภายในประเทศกลับเป็นไปอย่างจำกัด
“สายพันธุ์ข้าวในเมืองไทยกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เยอะมาก อยากให้ลองนึกถึงการบริโภคกาแฟที่แต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นและรสชาติต่างกันออกไป ข้าวก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน มีความเป็นธรรมชาติ มีสัมผัส มีกลิ่นและความรื่นรมย์ที่ต่างกันออกไปในแต่ละสายพันธุ์
เราอยากนำเสนองแง่มุมและทัศนคติใหม่ๆ ให้กับข้าว เพราะทุกสายพันธุ์ต่างกันทั้งความอร่อย สารอาหารหรือคุณประโยชน์ อย่างเช่นถ้าคุณต้องการควบคุมน้ำหนัก ก็อาจจะรับประทานข้าวที่มีไฟเบอร์ ทั้งแบบละลายและไม่ละลายน้ำเพื่อให้อิ่มนานขึ้น หรือข้าวที่ควบคุมน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ยิ่งไปกว่านั้นคือรสชาติ ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารยังไงก็ต้องอร่อย เรามั่นใจมากในเรื่องนี้ หากมีโอกาสสัมผัสข้าวในช่วงชีวิตที่ถูกต้อง มีการขัดสดใหม่และมาจากแหล่งที่ดี มีสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการ จะสัมผัสได้ถึงความอร่อยที่แตกต่างกันมาก”
เดินหน้าเพื่อสังคมอินทรีย์
การจะสานความฝันความก้าวไกลของข้าวอินทรีย์ให้เป็นจริง ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายชุมชนโครงการศาลานาอย่าง โอ๊ต มองว่า ‘กระแสบริโภคข้าวอินทรีย์’ คือสิ่งสำคัญมาก และที่ไม่น้อยกว่ากันคือการทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
“ช่องทางการขายข้าวคือหัวใจสำคัญ ศาลานาเชื่อว่าข้าวคือสิ่งที่ต้องพูด ข้าวไม่สามารถขายตัวเองได้ เราต้องทำการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องข้าวให้ผู้คนรู้จัก ในฝั่งของเกษตรกรเราอยากผลักดันให้ก้าวไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ให้พวกเขาสามารถอยู่ในระบบธุรกิจนี้แบบพึ่งพาตนเองให้ได้
ขอย้อนกลับไปยังชื่อของศาลานา ที่เราบอกว่าคือความร่มเย็นและเป็นที่พักพิงของเกษตรกร เราอยากที่จะส่งเสริมช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนในสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย”
เช่นเดียวกันกับ หมอโอ๊ค ที่ต้องการเห็นข้าวอินทรีย์เจริญเติบโตมากขึ้นในตลาดไทยและตลาดโลก “ผมอยากให้ทุกคนเปิดกว้างมากขึ้น ลองชิมข้าวหลากสายพันธุ์ในช่วงชีวิตที่ดีที่สุด ทุกคนตระหนักรู้แล้วว่าความสำคัญในการดูแลสุขภาพเป็นอย่างไร ผ่านราคาที่สมเหตุสมผล ชาวนาอยู่ได้ ผู้บริโภคซื้อได้ ธุรกิจอยู่ได้"
"ผมคิดว่าเรื่องข้าวไม่จบแค่นี้แน่ ยังมีอะไรที่ล้ำลึก และน่าสนใจเต็มไปหมด" - นายแพทย์สมิทธิ์ อารยะสกุล