มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับองค์กรเครือข่ายและเยาวชนกว่า 30 คนพร้อมตัวแทนกลุ่มผู้ชาย นำโดยนางสาวอังคณา อินทา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เข้ายื่นหนังสือต่อนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการิหรือ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงนางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ และนางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในฐานะโฆษก กมธ.กิจการเด็กฯ เพื่อให้ผลักดันการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในวันครอบครัว
พร้อมทั้งศึกษาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างเพศจากที่สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" และไทยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" พร้อมนำถือป้ายข้อความและไม้กวาดและที่ตักฝุ่นหรือโกยขยะ สวมเอี้ยม มาแสดงเป็นเชิงสัญลักษณ์ ในโอกาสนี้ด้วย
นางสาวอังคณา ระบุว่า มูลนิธิขอเชิญชวนร่วมรณรงค์กิจกรรมเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล โดยปีนี้ใช้แนวคิดที่ว่า "งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคนทำได้ทุกเพศ" ดังนั้น ผู้ชายควรช่วยงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว และ ยังมีข้อมูลที่ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ชาย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอายุระหว่าง 18- 50 ปีจำนวน 1,995 ชุดพบว่า ทัศนคติและความเห็นต่องานบ้านของกลุ่มผู้ชาย
อันดับ 1 เห็นด้วยกับการที่ผู้ชายช่วยงานบ้านว่าเป็นเรื่องที่ควรภูมิใจไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย
อันดับที่ 2 ผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือน
อันดับที่ 3 ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านเลี้ยงลูก
ส่วนข้อเสนอแนะต่องานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศ พบว่า
อันดับ 1 ครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้านและสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็ก
อันดับ 2 ถึงเวลาในการเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคนและสามารถทำได้ทุกอย่างจริงจัง
อันดับ 3 ควรปลูกฝังแต่เล็กๆ ว่าเรื่องงานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศทั้งในครอบครัวและระบบการศึกษาและลำดับ
และสุดท้ายคือ ยกเลิกเนื้อหาหลักสูตรการสอนรูปภาพ และกระบวนการสอนที่ผลิตซ้ำรวมถึงทัศนคติของอาจารย์ในเรื่องบทบาทตามกรอบเพศ และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในหลักสูตรการศึกษา
นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการประกอบด้วย
1. ให้ติดตามการดำเนินงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้สังคมในเรื่องความรุนแรงระหว่างครอบครัวเพื่อปรับทัศนคติ และความเชื่อว่าเรื่องครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของทุกคน นักพัฒนากลไกชุมชนเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ
2. ขอให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นอุปสรรคในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศโดยเสนอให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมเรื่อง gender หรือความเสมอภาคระหว่างเพศด้วย ที่สำคัญต้องลดทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ที่เป็นที่มาของความรุนแรงต่อสตรี
3. ผลักดันให้สถานศึกษามีช่องทางรับแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศหรือมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในโรงเรียน ที่เข้าถึงง่ายตอบสนองต่อปัญหารวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สามารถติดตามผลได้ เนื่องจากโรงเรียนเป็น เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความรุนแรงกับเด็กด้วย