ไม่พบผลการค้นหา
โลกสีฟ้าใต้แว่นทรงกลมของพ่อค้าวีลแชร์ จากหนุ่มพิการผู้ไม่สยบยอมโชคชะตาและช่างมันสำหรับสายตาที่ดูแคลน ด้วยความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ชุ่มไปด้วยพลังใจ ผ่านรถเข็นทรงสปอร์ตที่มีราคาเฉียดแสน

อาร์ม-ณัฐพงศ์ นวลละออ วัย 30 ปี ผู้เติบโตในย่านบางนา จ.สมุทรปราการ ณ ที่แห่งนี้คือจุดเริ่มต้นของละครชีวิต ย้อนไปตอนอายุเพียงแค่ 3 เดือน จนถึงอายุ 14 ปี เขาต้องเผชิญอาการขาหักอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เขาบอกว่ากระดูกของเขาเสมือน ‘กระเบื้อง’ ใส เปราะบาง ไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ ขณะที่ในวัยเด็กเขาก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่เริ่มพ้นวัยเยาว์สัญญาณบางอย่างเริ่มส่งเสียงเตือน 

“โหย...มันหักหลายครั้งเหลือเกิน มันหักจนหลอน ในหัวมีแต่คำว่า ระวังนะ ระวังนะ เพราะถ้ามันหักอีก จะใช้เวลาพักฟื้นนานมาก” อาร์ม ทวนย้อนอดีตในสิ่งพบเจอ

ย่างวัยแตกเนื้อหนุ่ม 14 ปี เขาตัดสินครั้งใหญ่ ด้วยคำมั่นย้ำเตือนตัวเองว่า “ผมไม่คิดจะเดินอีกแล้ว” นั่นเป็นครั้งแรกที่เขารู้จักพาหนะคู่กายอย่าง “วีลแชร์” แม้ร่างกายอาจไม่เพียบพร้อม แต่หาใช่ขวากหนามในการใช้ชีวิต เขายังคงโลดโผนตามประสาวัยรุ่น 

อาร์ม วิลแชร์
  • ซ่อมแซมรถคู่กาย

“ผมใช้ชีวิตปกตินะ เคยทั้งขับรถพ่วง เรียกได้ว่าผมใช้ชีวิตวัยรุ่นได้คุ้มค่ามาก ผมทำทุกอย่างที่คนปกติทำ อาจช้าหน่อยแต่ผมก็ทำได้ ผมไม่แคร์สายตาคนอื่น ผมใช้สิทธิในในความเป็นคนเท่ากันเหมือนคนปกติ ผมก็แค่คนๆหนึ่งที่นั่งวีลแชร์”

ก่อนหน้าโควิด-19 เขาได้เข้าไปเล่นกีฬาแบดมินตัน เลยทำให้รู้ว่าโอกาสที่ไม่ถูกซัพพอร์ทจากภาครัฐเป็นเช่นไร โดยเฉพาะผู้พิการจากนอกเขตเมือง ที่มีฝีมือและเฉลียวฉาดก็ถูกมองข้ามไปโดยปริยาย

“เวลาเขาอยากได้นักกีฬาหน้าใหม่ เด็กวัยรุ่นที่เขาสดมีศักยภาพที่อยู่ต่างจังหวัด เขาก็ไม่รับโอกาสตรงนี้ เพราะการจะเข้ามาเล่นกีฬาหรือคัดตัว เขาต้องจ่ายทุกอย่างด้วยตัวเอง แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมา ผมว่าเด็กไทยเก่งเยอะนะ แต่เขากระจายกันอยู่ข้างนอกหมด”


เมืองนี้ไม่ได้สร้างเพื่อคนพิการ

สิ่งที่เขาชวนคิดต่อมาคือการใช้ชีวิต ใต้โครงสร้างผังเมืองที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับคนพิการ แม้แต่บนฟุตบาธเองยังมีรถวิ่งสวนไปมา ครั้นจะเรียกรถสาธารณะก็มักเจอเงื่อนไขที่ไม่เข้าท่า ทั้งคำปฏิเสธและความจุกจิกของผู้ให้บริการ

อาร์ม วิลแชร์
  • ชายวัย 30 ปี นักปั้นวีลแชร์

“มันคือปัจจัยที่คนพิการไม่อยากออกมาใช้ชีวิต หนึ่งเลยคือกลัวสังคมไม่ยอมรับ สมัยที่ยังไม่มีแอปเรียกรถ โบกแท็กซี่ก็ไม่จอดรับ การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมันลำบากมาก และการที่จะไปขึ้นรถไฟฟ้าผมก็ต้องนั่งรถแท็กซี่เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า บางทีก็ไม่เจอลิฟท์หรือมีคนปกติใช้อยู่ แทนที่ผมเป็นคนพิการควรจะได้ใช้สิทธิ์ตรงนั้น เอาจริงผมเจอฟุตบาธก็จบแล้ว พวกผมต้องเอาตัวย้ายลงพื้น เพื่อที่จะยกรถขึ้น แล้วเอาตัวเองขึ้นรถเพื่อที่จะไปต่อ มันเลยทำให้คนพิการไม่กล้าออกมาจากเซฟโซน

“ผมอยากได้รถเมล์ที่คนพิการสามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช้ทั้งสายทำมาคันเดียว อย่างงี้พวกผมก็ต้องรอเป็นชั่วโมงเลย รวมถึงพวกทางลาดควรจะมีให้ทุกที่ ส่วนฟุตบาธก็อยากให้เอื้อคนพิการ ไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนไปสวนมา เอาเสาไฟฟ้ามาวางขวาง พวกผมก็ต้องลงไปถนนเสี่ยงอันตรายอีก อย่าให้พวกผมต้องพิการซ้ำซ้อนอีกเลย ที่ผ่านมาพยายามที่จะพูดออกมา แต่คนหันหลังกลับมามองเราน้อยเหลือเกิน” เขาสะท้อนความหวัง

เมื่อถูกถามว่าเมืองที่มองเห็นคนพิการเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองเป็นเช่นไร จากประสบการณ์ของการท่องโลกไปต่างแดนอย่างน้อย 6 ครั้ง ‘อาร์ม’ ยิ้มและตอบทันที 

“ผมเคยไปเยอรมันมา เมื่อก่อนผมไม่กล้าใส่กางเกงขาสั้นเลยเพราะผมอาย แต่พออยู่เยอรมันครั้งแรกที่เจอคนพิการเหมือนเรา เขาใช้ชีวิตกันแบบสุดขั้ว ทั้งสักทั้งเจาะหู เออ...เราก็คิดว่าทำไมต้องอายด้วย เพราะเราก็เป็นคนเหมือนกัน ส่วนการใช้ชีวิตนั้นถือว่าสะดวกสบายมาก เพราะฟุตบาธประเทศเขามีระดับต่ำ รถเมล์มีลิฟต์บริการคนพิการ เราสามารถไปไหนมาไหนคนเดียวได้เลย”

 

‘เมดอินเจแปน’ 

ผลผลิตจากความผูกผันในเยาว์วัยและความทรงจำของอาร์มนั้น ได้ปลูกฝังให้เขาชื่นชอบรถ โดยเฉพาะ ‘รถพ่วง’ เครื่องมือหากินของครอบครัวฝั่งพ่อ ซึ่งเขาเน้นย้ำหลายครั้งว่า ‘ผมชอบรถมาก’ อีกทั้งการคลุกคลีกับพ่อทำให้เขาครูพักลักจำวิชาซ่อมรถติดตัวมา ก่อนผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าวีลแชร์ โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เขาบรรยายสรรพคุณสินค้าอย่างเจนจัด อะไหล่พรีเมี่ยมหลายชิ้นถูกจัดวางอย่างลงตัว ทำให้สินค้าของเขาได้รับความสนใจจากนักเล่นรถวีลแชร์สปอร์ต

อาร์ม วิลแชร์
  • บทสนทาและอะไหล่บางส่วน

ผ่านหมัดเด็ดในการขายสินค้าของเขาใช้วิธีมัดใจลูกค้าด้วยการให้ผู้สนใจเข้ามาดูตัวจริง เพราะการพูดคุยกันทางออนไลน์นั้น อาจไม่รอบด้านเท่าการทดลองนั่งด้วยตนเอง ด้วยความซื่อสัตย์เขาไม่อยากหลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อ เพียงหวังฟันกำไรจากเม็ดเงิน ด้วยราคาค่อนข้างสูง อาร์มเล่าว่าส่วนมากจะเป็นนักกีฬาใช้ อาทิเช่น บาสเกตบอล, แบดมินตัน เป็นต้น เพราะวีลแชร์สปอร์ตมีน้ำหนักที่เบา คล่องตัวปรับแต่งได้ตามรสนิยมของแต่ละบุคคล  

“ผมรู้จักวีลแชร์สปอร์ตครั้งแรกเลย ตอนสมัยเรียนที่ ร.ร.เอกชนสำหรับผู้พิการแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งตอนนั้นผมยังใช้รถของโรงพยาบาล แล้วเพื่อนเขาใช้รถสปอร์ตกันหมด ด้วยความที่วัยรุ่นเราก็อยากมี ผ่านไปหนึ่งเดือนก็ได้รถที่ใช้อยู่ปัจจุบัน” 

รถคันแรกของ ‘อาร์ม’ ราคากว่า 65,000 บาท ซึ่งถูกใช้งานมาแล้วร่วม 10 ปี ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับเขามาก เขาเปรียบให้เห็นภาพ ‘เหมือนขาที่มีราคาของคนพิการ’ จนถึงวันนี้รถคู่ชีวิตของเขา ถูกประดับประดาไปกว่า 100,000 บาท  ก่อนย้อนไปในวัยเรียนด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ว่า “สมัยนั้นผมเข็นเข้าโรงเรียน สาวมองเต็มเลยนะ”

“ถามว่าราคาสูงแล้วฟีลมันต่างไหม มันก็ไม่ต่างกันมาก แต่ก็เหมือนคนแต่งรถก็อยากใส่แม็กแท้ เหมือนกันอย่างวีลแชร์แค่สัมผัสผิวของมัน ก็สามารถแยกได้แล้วว่างานแท้หรือก็อปมา แบรนด์ไต้หวันหรือแบรนด์ญี่ปุ่น คำว่า ‘เมดอินเจแปน’ มันมีผลกับผมมากนะ ถึงจะแพงและหายากก็เถอะ แต่ผมรอ”


‘เข็นลำบากปั่นนั่งเมื่อย’

เมื่อโลกเปลี่ยนยุคสมัย ผู้คนเริ่มหันมาทำความรู้จักวีลแชร์รถสปอร์ตมากขึ้น โดยเฉพาะแบร์นสหรัฐอเมริกา อาร์มบอกว่าถือเป็นสิ่งที่หลายคนไฝ่ฝันกันมาก เพราะราคาเรื่มต้นที่ 150,000 บาทขึ้นไป เฉพาะตัวล้อเดิมก็ปาไป 65,000 บาท ข้อดีของมันคือสามารถปรับแต่งใส่ดุมหรือซี่ล้อแบบไหนได้ตามใจชอบเลย


“ฟีลแรกของการนั่งรถวีลแชร์สำคัญมาก มันต้องปรับให้เข้ากับสรีระเขา อย่างผมนั่งรถทรงเตี้ย หน้ากดตูดโด่ง เพราะเวลานั่งมันจะเด่นขึ้นเพราะช่วงตัวผมโด่ง ‘เข็นลำบากปั่นนั่งเมื่อย’ นี่แหละสไตค์ผมเลย”

สำหรับรุ่นยอดนิยมเลยคือ แบรนด์ ZZR ถือเป็นรถที่มีความงดงาม สนนราคาเริ่มต้นที่ 75,000 บาท อาร์มนิยามหลังลองนั่งดู ‘เหมือนนั่งบนฟูก’ ราวกับรถหรูยี่ห้อดัง แต่ดวงไม่สมพงษ์แม้ว่าสีจะเข้าตา ขนาดกลับไม่เข้าบุคลิคของเขา บางคันย้อมแมวมา ถ้าคนดูไม่เป็นก็อาจเสียท่าไปหลายตังค์ นั่นคือสเน่ห์ของนักปั้นวีลแชร์

“มันจะมีเลขโค้ดเราต้องเช็คว่าโดนลอกหรือไม่ อีกจุดคือบู๊ทที่ไม่สามรถซื้อมาสับเปลี่ยนได้ ต้องเช็คให้ดีว่ามันเสื่อมสภาพหรือยัง ส่วนล้อแม็กเดิมๆจะอยู่ 30,000-35,000 บาท”

ขณะที่รุ่นที่ถูกใช้ส่วนใหญ่ของผู้พิการไทย จะเป็นรถวีลแชร์ที่รับแจกจากกรมขนส่งทางบก มีสองลักษณะแบ่งเป็นหน้าสั้น-หน้ายาว ตามบุคลิกของแต่ละคน เขาแนะทริกว่า “หากอยากหล่อ ต้องเซ็ตตัวให้เด่น ถ้าอยากเฟี้ยวก็ต้องหาล้อแท้มาใส่”

ส่วนตัวของอาร์มเขาหลงไหลกับวีลแชร์สัญชาติญี่ปุ่น ทั้งรูปทรงที่เตะตาและชั้นเชิงของการออกแบบผลิตภัณฑ์ อีกทั้งเป็นรถนอกกระแส ซึ่งก็มีกลุ่มคนพิการที่มีรสนิยมเช่นเดียวกับเขาอยู่ไม่น้อย พวกเขามักนัดพบปะกันแลกเปลี่ยนความรู้ เวียนวิชาให้แก่กันและกัน

อาร์ม วิลแชร์


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog