ขอนแก่น วันที่ 3 ธ.ค. 2566 เมื่อเวลา 09.30 น. เครือข่ายประชาชนปกป้องลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้จัดกิจกรรม “มหกรรมประชาชนปกป้องลุ่มน้ำโขงอีสาน” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำของรัฐ เข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไว้มีเวทีเสวนา “บทบาทของประชาชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ” โดยวิทยากรได้วิพากษ์นโยบายการจัดการน้ำของทุกรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้าน และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ต่อทรัพยากร และข้อเสนอในการแก้ไขนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำ และได้อ่านแถลงการณ์ หยุดรัฐและทุน เขมือบทรัพยากรประเทศ
จึงมีข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จะเดินทางลงพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2566 ดังนี้ 1. ให้ยุติการเดินหน้าโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล 2. ให้ยุติการเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแตชอุดรธานี และเหมืองแร่ในภาคอีสาน 3. ให้เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร, แก้ไขปัญหาเขื่อน ราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน, แก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน, แก้ไขปัญหากรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน เป็นต้น 4. ให้รัฐสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำระดับครัวเรือนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น รูปแบบแผงโซลาร์เซลในการดึงน้ำมาใช้ในการเกษตร เป็นต้น
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวมีชีวิตต่อไปได้ พร้อมทั้งกลาวถึงการฮั้วกันของอำนาจเก่ากับรัฐบาลปัจจุบันที่ครอบงำและทำลายอำนาจประชาชน จะต้องมีการกระจายอำนาจและโอกาสในการดูแลจัดการให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในส่วนของการจัดการน้ำที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนจะต้องมีการแก้ไข กฎหมาย นโยบาย รวมไปถึงโครงสร้าง สิทธิชุมชนในการจัดการจัดการน้ำจะเกิดขึ้นได้ด้วย 1.การกระจายโอกาส และอำนาจสู่ชุมชนในทุกมิติ 2.ขยายความร่วมมือของชาวบ้านเครือข่ายแต่ละชุมชน 3.การกระจายความรู้จากชุมชนเพื่อสื่อสารกับสาธารณะเพื่อยกระดับชุมชน ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน
จากนั้นจำนงค์ จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ภัยพิบัติซ้ำซาก ความจนซ้ำซ้อน ชาวบ้านที่จังหวัดอุบลราชนีที่ได้รับผลกระทบทับซ้อนกันจากประเด็นปัญหาอุทกภัยในทุกปีส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจนซ้ำร้ายที่ดินทำกินยังถูกประกาศให้เป็นที่สาธารณะ ชาวบ้านในชุมชนต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง แม้ขอความช่วยเหลือจากรัฐไปก็ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐล้มเหลวในการจัดการน้ำและดูแลประชาชนอย่างมาก
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า บทเรียนในการจัดการน้ำที่ผ่านมาของโครงการโขง ชี มูน ภาคอีสาน พื้นที่ชาวบ้านลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูน ต่างได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ทำให้เกิดการเรียกร้องสิทธิเพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหาถึงปัจจุบันยังไม่เสร็จ พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูนว่าจะผันน้ำในช่วงเวลาไหน ในเมื่อหน้าฝน เขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำก็บรรจุน้ำกว่า 120% อยู่แล้ว และในหน้าแล้ง แม่น้ำโขงก็ไม่มีน้ำในการผันน้ำ รัฐล้มเหลวในการจัดการน้ำและต้องสรุปบทเรียนโครงการที่ผ่านมา
ด้านนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า บทเรียนของการจัดการน้ำที่ผ่านมาเป็นเพราะแนวคิดการพัฒนาแบบเดิม ๆ ของรัฐจะต้องรื้อความคิดแบบเก่าและหนุนเสริมรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กที่ชุมชนสามารถเข้าถึงและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจะต้องเชื่อมร้อยเครือข่ายประชาชนเพื่อยกระดับสู่การแก้ปัญหาในเชิงนโยบายต่อไป
ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนขาดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ถือว่าเป็นบทเรียนที่เราได้มาร่วมสรุปด้วยกันเพื่อออกแบบในการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชนแบบคู่ขนาน โดยจะต้องผสานความรู้ระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้านในการยกระดับความรู้เพื่อสู้กับอำนาจที่ครอบงำสังคม ตลอดจนการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูลและส่งเสริมให้ชาวบ้านตระหนักถึงการหวงแหนทรัพยากร การปกป้องชุมชนและการตรวจสอบนโยบายของรัฐ
ด้านผู้ใหญ่ ชุมพร เรืองศิริ เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ได้สรุปบทเรียนถึงกลไกการจัดการน้ำของภาครัฐ ภายใต้ พ.ร.บ.น้ำ ปี 2561 ที่ไม่เอื้อให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของสัดส่วนคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ให้อำนาจหน้าที่กับหน่วยงานภาครัฐเข้าไปมีบทบาทมากกว่าภาคประชาชน พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาการจัดการน้ำ โดยยึดรูปแบบการจัดการน้ำตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล ขึ้นไปถึงระดับนโยบาย เพื่อก่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรน้ำแบบยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างทรัพยากรน้ำกับชาวบ้าน ที่เกี่ยวข้องทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่รัฐได้ใช้เครื่องมือทางอำนาจ กฏหมาย นโยบาย เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อตอบสนองให้กับกลุ่มทุน จนมองไม่เห็นมิติด้านนิเวศ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงยั่งยืนของทรัพยากรน้ำที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ซึ่งในเวทีเสวนาครั้งนี้ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่ถูกทำให้เป็น “เรื่องการเมืองเชิงนโยบายและกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ในขณะประชาชนจะต้องร่วมกันออกแบบและกำหนดรูปแบบการจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน
หลังจากนั้นเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ได้เดินทางไปยังสะพานข้ามลำน้ำพอง เพื่อร่วมกันปล่อยป้ายที่มีข้อความว่า “หยุดทุนแย่งชิงทรัพยากรชุมชน” “หยุดรัฐรวมศูนย์อำนาจเขมือบประเทศ” และ “ไม่เอาผันน้ำโขง เลย ชี มูน” พร้อมกับอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสัญจร ภาคอีสาน ในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2566 โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ให้ยุติการเดินหน้าโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล 2. ให้ยุติการเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแตชอุดรธานี และเหมืองแร่ในภาคอีสาน 3. ให้เร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร, แก้ไขปัญหาเขื่อน ราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน, แก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน, แก้ไขปัญหากรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน เป็นต้น 4. ให้รัฐสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำระดับครัวเรือนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น รูปแบบแผงโซลาร์เซลในการดึงน้ำมาใช้ในการเกษตร เป็นต้น
วันเดียวกันเวลาประมาณ 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ตำบลโนนสูง อำเภอประจักศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนในการคัดค้านเหมืองแร่โปแตชที่ จังหวัดอุดรธานี ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้เดินทางมาลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตช
ทั้งนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองว่าเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนให้ผู้ได้ประทานบัตรเร่งขุดแร่ขึ้นมาขาย จึงประกาศว่า เรายึดมั่นในสิทธิชุมชนที่ปกป้องวิถีเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจชุมชนที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราจะคัดค้านการทำเหมืองจนถึงที่สุด โดยไม่ยอมให้นายทุนหน้าไหนเข้ามาขุดเอาแร่ใต้ถุนบ้านเราไปขาย แล้วทิ้งไว้เพียงกากเกลือซึ่งจะเป็นผลกระทบไปจนชั่วลูกหลาน