ไม่พบผลการค้นหา
พลังงานวาง 7 เงื่อนไขเข้ม พิจารณาโครงการยื่นของบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ฯ ปี2563 เน้นอันดับแรกให้โครงการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยเหลือภัยแล้ง พร้อมเผย 5 พันโครงการยื่นของบฯ แล้วกว่า 6.2 หมื่นล้าน เกินงบจัดสรร 11 เท่า

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่่ายอดการยื่นข้อเสนอโครงการปีนี้มีจำนวนทั้งหมด 5,155 โครงการ วงเงิน 62,616 ล้านบาท โดยที่กรอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ มี 5,600 ล้านบาท หรือเกินจำนวนเงินที่มีประมาณ 11 เท่า ซึ่งโครงการที่ยื่นเขามาแบ่งเป็นในกลุ่มแผนเพิ่มประสิทธิภาพ 1,134 โครงการ วงเงิน 20,874 ล้านบาท (วงเงินจัดสรร 2,400 ล้านบาท) และแผนพลังงานทดแทน 4,021 โครงการ วงเงิน 41,743 ล้านบาท (วงเงินจัดสรร 3,200 ล้านบาท) 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างละเอียดรอบคอบและให้ครอบคลุมหลายมิติ โดยลำดับแรกจะพิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขการจัดทำข้อเสนอโครงการและเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เช่น ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอรับแทนกัน มีข้อมูลด้านความคุ้มค่า กรณีเป็นโครงการต่อเนื่องต้องมีผลความก้าวหน้าและผลการเบิกจ่ายมากกว่าร้อยละ 50 ของโครงการในปีที่ผ่านมา มีข้อมูลด้านศักยภาพของหน่วยงานและเชิงพื้นที่ เป็นต้น 

สำหรับการลำดับความสำคัญจะเน้นให้กับโครงการภายใต้กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากภายใต้แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และแผนพลังงานทดแทน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากทำให้เม็ดเงินกระจายอยู่ในจังหวัด ช่วยสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเกิดการนำพลังงานทดแทนมาใช้ก่อเกิดการประหยัดพลังงานให้กับชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่าย

โดยในกลุ่มนี้มีข้อเสนอโครงการที่ยื่นตรงมายังสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) รวม 3,605 โครงการ และข้อเสนอผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีจังหวัดที่ยื่นขอมา 54 จังหวัด ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะกำหนดแนวทางกลั่นกรองโครงการภายใต้กลุ่มงานนี้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างเข้มงวด

สำหรับเงื่อนไข 7 ข้อในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีดังนี้

  • เน้นโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยมีกิจกรรม/ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่แสดงความสำเร็จของโครงการ/กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์ชัดเจน รวมถึงแสดงถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ มีหน่วยงานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงการต่อ
  • เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์มาประกอบการพิจารณา โดยแสดงผลประหยัดที่ถูกต้อง มีระยะเวลาการคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชัดเจน
  • เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน
  • กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีทีผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยแสดงข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ
  • ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการในลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว
  • กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ ว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
  • ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป