ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ร่วมยืนหยุดขังหน้าศาลฎีกา จี้คืนสิทธิ์ประกันตัวเยาวชนคดีการเมือง 'ประจักษ์' ชี้การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันต้องทำได้ในสังคมประชาธิปไตย ซัด 'ประยุทธ์' ซ้ำรอย 'มิ่นอ่องลาย' ในเวทีอาเซียน  'พวงทอง' เตือนคนส่วนใหญ่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ ผู้มีอำนาจต้องฟัง เปรียบไทยเป็นบ้านหลังใหญ่ ที่เสาหลักกรวง เหตุขังอนาคตของชาติ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม "จากธรรมศาสตร์ สู่ศาลฎีกา เดินหาความยุติธรรม" เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้เยาวชนผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมือง มีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน

โดยมีการรวมตัวที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดินรณรงค์ผ่านสนามหลวง ข้ามฝั่งมายังหน้าศาลฎีกา เพื่อร่วม "ยืน หยุด ขัง" ของพลเมืองโต้กลับ ที่จัดกิจกรรมยืนหยุดขัง เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที บริเวณลานหน้าป้ายศาล หรือ 'ลานอากง' ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 64 แล้ว

ประจักษ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้ เพื่อย้ำเตือนสังคมว่ายังมีเยาวชนถูกคุมขังอยู่จำนวนมาก ทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสินว่าผิด ตามที่ถูกกล่าวหา บางคนอย่างนางสาวเบนจา อะปัญ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่อัยการยังไม่สั่งของด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับคดีทางการเมืองก่อนหน้านี้ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และ กปปส.รวมถึงคดีอุกฉกรรจ์อย่างฆ่าข่มขืน ก็ยังได้รับสิทธิ์ประกันตัว จึงควรดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองในมาตรฐานเดียวกัน พร้อมยืนยันว่า เยาวชนนักศึกษาไม่ได้มีความผิดอะไร เพียงแต่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ผู้มีอำนาจ และเห็นด้วยว่า การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องทำได้ในสังคมประชาธิปไตย 

นักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐.jpgนักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_1.jpgนักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_2.jpgนักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_4.jpgนักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_8.jpgนักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_9.jpgนักวิชาการร่วมยืนหยุดขัง หน้าศาลฎีกา_๒๑๑๐_12.jpg

ประจักษ์ กล่าวย้ำว่า สิทธิในการประกันตัว ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม ในขณะที่คดีชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ กลับได้รับการประกันตัว แต่สำหรับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเหล่านี้นั้น ความผิดประการเดียวที่พวกเขาทำคือแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อำนาจเผด็จการ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งควรเป็นสิ่งที่กระทำได้อย่างเสรีในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนกรณีที่ราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้มีการนำหนังสือเข้าไปให้ผู้ต้องหาทางการเมือง ประจักษ์มองว่า ระบบยุติธรรมไทยกำลังทำให้ผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นนักโทษอุจฉรรจ์ พรากสิทธิทุกอย่างตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ

พร้อมกันนี้เรียกร้องให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอย่าใช้อคติหรือความเชื่อทางการเมืองมาใช้ในการดำเนินการกับคนรุ่นใหม่ เพราะ คนส.และสังคมไทยไม่อยากเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจให้กับผู้มีอำนาจเท่านั้น หากประเทศไม่มีความยุติธรรมก็จะไม่มีความสงบสุข ซึ่งดูได้จากประเทศเมียนมาร์

ประจักษ์ ระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะเดินกำลังจะเข้าสู่การประชุมอาเซียน ในฐานะรัฐบาล ขณะที่ยังมีเยาวชนที่ถูกคุมขัง มีการจับเยาวชนที่ชุมนุมอย่างสงบสันติ โดยที่ไม่ให้ประกันตัว ถ้าเป็นเช่นนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะมีภาพลักษณ์ไม่ต่างจาก 'นายพลมินอ่องลาย' ประธานาธิบดีจากการรัฐประหารของเมียนมาร์ ที่จะถูกประเทศสมาชิกอาเซียนกดดัน

ด้านรองศาสตราจารย์ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าคณาจารย์และสังคมจะไม่ลืมว่ามีเยาวชนถูกคุมขังอยู่ และจะติดตามข้อมูลด้วยความโกรธแค้น เพราะไม่มีประเทศไหนที่จะยอมให้เอาเยาวชนที่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติไปขังคุกจำนวนมากขนาดนี้ พร้อมเปรียบเทียบว่า ถ้าประเทศไทยคือบ้าน ก็ใหญ่โตแต่ภายนอกเท่านั้น เสาที่ค้ำบ้านหลังนี้อยู่ข้างในผุกร่อนและกลวง เพราะเยาวชนซึ่งเป็นคนที่กำลังจะโตและจะเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ถูกกดปราบ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ 

แต่ยืนยันว่า ไม่มีใครหยุดความคิดของคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าผู้มีอำนาจไม่รับฟังมุ่งแต่จะปราบปรามจับกุม ก็ยิ่งทำให้บ้านหลังนี้ผุกร่อนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ถึงเวลาที่ต้องรับฟังเสียงของเยาวชน และคิดว่าขณะนี้ประชาชนจำนวนมากก็พร้อมที่จะสนับสนุนเยาวชนที่ถูกคุมขังอยู่ จึงอยากฝากเตือนถึงผู้มีอำนาจด้วย