โทนี เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งบริษํทแอร์เอเชียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ในช่วงที่ทั่วโลกระงับการเดินทาง เขาได้ใช้เวลาไปกับการปรับปรุงแอปพลิเคชัน BigPay และเว็บไซต์ AirAsia.com โดยแอปฯ ที่บริษัทพัฒนาขึ้นสามารถแข่งขันกับ Grab, Gojek และ WeChat ได้
หลังจากที่ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดไปทั่วโลก จนทำให้การเดินทางเกือบทั้งหมดหยุดชะงักลง แอร์เอเชียได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนต้องเลย์ออฟพนักงานออกไป 30% และเฟอร์นานเดซจำเป็นต้องต้องหาทางสร้างรายได้ใหม่ๆ
เฟอร์นานเดซกล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด ทำให้เขาได้หันมาจดจ่อกับการพัฒนาแอปฯ จากที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินทำให้เขาไม่ค่อยมีเวลาและโอกาสมาสนใจธุรกิจดิจิทัล แม้ที่ผ่านมา แอร์เอเชียจะเป็นบริษัทดิจิทัลมาโดยตลอด และเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ขายตั๋วออนไลน์
แอร์เอเชียมีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างใหญ่ มีผู้ใช้ราว 1 ล้านคนแล้ว และได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารในมาเลเซียและสิงคโปร์แล้ว เพื่อที่จะขยายธุรกิจด้านการกู้ยืมเงินและจัดการทรัพย์สินไปทั่วภูมิภาค
นอกจากนี้ เฟอร์นานเดซตั้งใจให้ BigPay กลายเป็น 'ซูเปอร์แอปฯ' ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มรวมบริการส่งข้อความ สั่งอาหาร ธนาคาร ชอปปิง จ่ายเงินและเดินทางไว้ในแอปฯ เดียว โโยรางานผลประกอบการระบุว่า BigPay สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 11%
เฟอร์นานเดซกล่าวว่า “ผมรู้ว่า ‘ซูเปอร์แอปฯ’ ฟังดูเหมือนเป้าหมายที่โอหัง แต่ Grab และ GoJek ก็เริ่มต้นจากเล็กๆ จากแอปฯ ด้านอาหารหรือการเดินทางเท่านั้น และคนก็ตั้งคำถามกับผมในทำนองเดียวกัน ตอนผมบอกว่าจะทำแอร์เอเชีย” จนทุกวันนี้แอร์เอเชียกลายเป็นหนึ่งในสายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ปี 2562 ที่ผ่านมา แอร์เอเชียได้ตั้งค่ายเพลงชื่อ RedRecords โดยเป็นพาร์ตเนอร์กับ Universal Music มีจุดประสงค์เพื่อเฟ้นหาดาวรุ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสเติบโตในตะวันตก โดยศิลปินดังคนแรกที่ได้เซ็นสัญญาคือ แจนนีน วีเกิล นักร้องชาวไทยที่มีติดตามในโซเชียลมีเดียมาแล้วหลายล้านคน
เฟอร์นานเดซกล่าวว่า ชาวเกาหลีได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ดนตรีเอเชียดึงดูดผู้ฟังจากทั่วโลกได้ด้วยเคป็อป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีศักยภาพอย่างมาก และนี่จะยิ่งทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงผู้ฟังอายุน้อย และจะทำให้แอปฯ นี้มีเนื้อหาต่างๆ มากขึ้นด้วย
แอร์เอเชียกรุ๊ปได้ปรับเปลี่ยนบริษัทจากบริษํทสายการบินมาเป็นบริษัทไลฟ์สไตล์ดิจิทัล โดยจัดให้เว็บไซต์ AirAsia.com การขนส่งและอีคอมเมิร์ซ และบริการด้านการเงินอยู่ในส่วนของดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งเจย์ ชาบัต นักวิเคราะห์จาก Airline Weekly กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างกะทันหันครั้งนี้ดูมีศักยภาพที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นของแอร์เอเชียเท่านั้น เพราะธุรุกิจสายการบินก็ยังเป็นหลักของบริษัท