ไม่พบผลการค้นหา
จู่ๆ กระแสเรื่อง 'นายกฯ พระราชทาน' และ 'รัฐบาลแห่งชาติ' ก็ถูกจุดขึ้นมาภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ในรัฐสภา กำลังผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

กระแส 'นายกฯ พระราชทาน' และ 'รัฐบาลแห่งชาติ' ยังเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสร้อนนอกรัฐสภา ที่ยังคงมีการชุมนุมผ่านมวลชนในการนำของคณะประชาชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อกดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ยุบสภา-ยุติการคุกคามประชาชน

และกระแสรัฐบาลแห่งชาติยังถูกจุดขึ้นหลัง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ยังคงความเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยไว้อยู่

"ได้พูดหลายครั้งว่ารัฐบาลแห่งชาติไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และไม่มีทางไปร่วมสังฆกรรม เพราะได้พิจารณาแล้วว่าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นการยื้อเวลาเท่านั้น และไม่เป็นประโยชน์ เพราะมองว่าทางออกของปัญหาคือการแก้รัฐธรรมนูญ" คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันดับกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะไปจับมือกับขั้วตรงข้ามทางการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ในขณะที่ 'รังสิมันต์ โรม' ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ว่า ทั้งสองสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสองหน้าของเหรียญเดียวกัน โดย 'นายกฯ พระราชทาน' นั้นมีที่มาในประวัติศาสตร์จากกรณีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีภายหลังวิกฤตการณ์ต่างๆ ในลักษณะที่ไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าเป็นมติของผู้แทนราษฎรตามระบบรัฐสภา จึงทำให้เป็นที่เข้าใจในสังคมว่าการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดังกล่าวเป็นการ "พระราชทาน" มาให้ เช่น การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 หรือการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ยิ่งหากเปิดตัวบทตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน

ประยุทธ์ รัฐสภา สภา ประวิตร สมคิด ถวายสัตย์
  • 5 ปีแรกให้รัฐสภาโหวตหานายกฯในบัญชีพรรคการเมือง

โดยเฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็ยังกำหนดไว้ในมาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 (สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบผู้สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ตามมาตรา 88) ซึ่งการเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ตามขั้นตอนนี้ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) มติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

  • ขั้นตอนนายกฯนอกบัญชีก๊กสอง

ในวรรคสองของมาตรา 272 ยังเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืงอ หากไม่อาจแต่งตั้งผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 โดยขั้นตอนการขอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชี 

1.สมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่สองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่อในบัญชีพรรคการเมือง

2.ประธานรัฐสภาจัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน

3.รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้น

4.การลงมติเพื่อหานายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ให้ใช้มติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

  • ขั้นตอนปกติให้สภาฯ โหวตหานายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง

ยิ่งพ้นในห้วง 5 ปีแรกของการมีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีก็ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 ซึ่งเลือกจากผู้ที่สมควรเป็นนายกฯ ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 และต้องกระทำในที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

บุคคลที่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรียังต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

และมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยมาตรา 159 ในหมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมาตรา 272 ตามบทเฉพาะกาล ไม่มีถ้อยคำใดที่นายกรัฐมนตรีจะไม่มีที่มาจากการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ดังนั้นขั้นตอนการมีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จึงไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เสนอชื่อประยุทธ์ รัฐสภา นายกรัฐมนตรี
  • มาตรา 5 - มาตรา 7 ไม่ได้กำหนดถ้อยคำให้มีนายกฯ พระราชทาน

ยิ่งหากไปยึดมาตรา 5 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

วรรคสองกำหนดว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ซึ่งบทบัญญัตินี้มีความคล้ายกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดไว้ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้แก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่กำหนดไว้มาตรา 7 ใช้ถ้อยคำเดียวกันกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มิได้มีถ้อยคำใดเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกระบบรัฐสภา

สนธิ ลิ้มทองกุล จำลอง ศรีเมือง พันธมิตร Del223079.jpg
  • สองม็อบ 'พันธมิตร-กปปส.' ฝันนายกฯ ม.7

ที่มากระแส 'นายกฯ พระราชทาน' ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ยังเคยเกิดขึ้นในห้วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ผ่านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้การนำของ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' 

ซึ่งแนวคิดนี้ เริ่มจาก “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ส.ว.กทม. ที่ระบุไว้เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2549 ว่า "ส.ว.กลุ่มอิสระจำนวนหนึ่ง เตรียมทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 เพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการผ่าทางตันในขณะนี้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร หมดความชอบธรรมแล้ว"

'สนธิ ลิ้มทองกุล' ยังเคยระบุระหว่างการชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2549 ว่า “เรามาที่นี่ เพื่อมารวมพลังให้เห็นว่าเราเป็นของจริง ไม่ใช่พวกแขวนป้ายที่คอ พอตอนเช้า ก็มาลงชื่อรับเงิน เรามาเพื่อให้เห็นว่า ทักษิณต้องออกไป และเพื่อแสดงประชามติขอบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อขอนายกพระราชทาน”

กปปส.jpg

เช่นเดียวกับปี 2556-2557 'นายกฯ มาตรา 7' ก็ถูกจุดรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง แต่มาจาก 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' เมื่อครั้งรับบทเลขาธิการ กปปส. ที่เขาได้ระบุไว้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 เมื่อครั้งที่ปลุกมวลชนกดดันขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“เมื่อระบอบทักษิณหมดอำนาจ อำนาจก็จะกลับคืนสู่ประชาชน ตามบทบัญญัติ มาตรา 3 จากนั้น ประชาชนจะได้รวมกันเลือกตัวแทนจากสาขาอาชีพ เป็นสภาประชาชน ที่กำหนดนโยบาย ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตรากฎหมายเลือกตั้ง ตรากฎหมายต้านทุจริต สภาประชาชนเป็นผู้เลือกคนดี ที่ไม่ใช่คนพรรคการเมืองเป็นนายกฯ และ ครม.ชั่วคราว ตามบทบัญญัติ มาตรา 7 จากนั้นรัฐบาลภาคประชาชนจะทำตามแนวนโยบายสภาประชาชนให้เสร็จโดยเร็ว เช่น การกระจายอำนาจการปกครองทุกจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย จะดำเนินการให้มีการเลือกตั้งตามประชาธิปไตย ทั้งรัฐบาลประชาชน สภาประชาชนจะกลับบ้าน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป”

  • รัชกาลที่ 9 ทรงย้ำวิกฤตปี 49 ม.7 ไม่ให้พระมหากษัตริย์ทำตามใจ

แนวคิดนายกรัฐมนตรีพระราชทานนั้น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาทแก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในการเสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ความบางตอนว่า 

"ที่พูดอย่างนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ ก็เพราะไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้อง มาตรา 7 มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่"

"มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินได้ ทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาก็จะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งจริงๆ ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"

"ก็อ้างถึงก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่มีทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา มีประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ ทำหน้าที่ แล้วมีนายกฯ ที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญ"

"นายกฯ พระราชทานหมายความว่า ตั้งนายกฯ โดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ อาจารย์สัญญา ได้รับตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯ ที่มีคนรับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์มาใหม่ ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับ"

"แล้วก็งานอื่นๆ ก็มี แม้จะที่เรียกว่าที่สภาสนามม้า เขาหัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง นายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้องตามครรลองของรัฐธรรมนูญ"

ต่อจากนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราโชวาทความบางตอนว่า "ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองประชาธิปไตยกลับไปอ่าน มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างที่ผิด อ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้ นายกฯ พระราชทานเป็นต้น"

"จะขอนายกฯ พระราชทานไม่ใช่เรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ แบบมั่ว แบบไม่มีเหตุมีผล สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่แจ่มใส สามารถกลับไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ คือ ปกครองต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วนก็ว่าไม่ได้ แต่อาจจะต้องหาวิธีที่ตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วน แบบตำนานได้ แต่ก็มั่ว ขอโทษอีกทีนะ ใช้คำมั่วไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว ปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดแบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จ ถ้าทำไม่ได้ก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอีก เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่ที่จะไป ก็เลยต้องมาขอร้องฝ่ายศาลให้คิดและช่วยกันคิด"

"ในมาตรา 7 ไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่าถ้าไม่มีการบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์สั่งการได้ แล้วก็ขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่เขาขอให้มีพระราชทาน นายกฯ พระราชทาน ไม่เคยมี มีนายกฯ แต่รับสนองพระบรมราชโองการอย่างถูกต้องทุกครั้ง มีคนที่เขาอาจจะมาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบตั้งแต่เป็นมา รัฐธรรมนูญเป็นมาหลายฉบับหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำตามใจชอบ ก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว"