หลังเกิดเหตุปะทุของภูเขาไฟตาอัล (Taal) ในจังหวัดบาตังกัส (Batangas) ทางใต้ของเกาะลูซอน ในช่วงเย็นของวันที่ 12 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ทางการฟิลิปปินส์ได้ยกระดับประกาศเตือนภัยเป็นระดับ 4 (จากสูงสุดคือระดับ 5) ซึ่งหมายความว่าภูเขาไปนี้อาจเกิดการปะทุที่รุนแรงและอันตรายขึ้นอีกได้ในไม่ช้า โดยการระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นราว 64.3 ก.ม. ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวราว 52 ครั้ง
ภูเขาไฟตาอัลพ่นเถ้าถ่านฟุ้งขึ้นไปในชั้นบรรยากาศราว 10-15 กม. ก่อให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ และเถ้าถ่านลอยกระจายปกคลุมชุมชนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ขณะนี้ได้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ในรัศมี 14 กม. จากภูเขาไฟแล้วอย่างน้อย 20,000 คนไปยังศูนย์อพยพทั้ง 73 แห่ง โดยสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าเช้าวันนี้ทางการฟิลิปปินส์ยังคงเตรียมอพยพประชาชนเพิ่ม และ TIME คาดว่าน่าจะมีการอพยพสูงถึง 300,000 คน
ทางการฟิลิปปินส์ยังระบุด้วยว่า ปัญหาหลักในขณะนี้คือสภาพการมองเห็นและความสามารถในการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดระเบิดขึ้นซึ่งยากลำบากอย่างมาก โดยสาเหตุหลักมาจากกลุ่มเก้าถ่านขนาดใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น และมีต้นไม้หักโค่นในบริเวณโดยรอบ ซึ่งนั่นคืออีกหนึ่งสาเหตุหลักที่มีการระงับเที่ยวบินที่จะเดินทางเข้า-ออกที่ท่าอากาศยานนานาชาติ Ninoy Aquino International Airport และระงับเที่ยวปิดเข้า-ออกกรุงมะนิลาเป็นการชั่วคราว ทั้งเที่ยวบินในและต่างประเทศ
'ตาอัล' เป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และเป็น 1 ใน 12 ภูเขาไฟที่กำลังปะทุอยู่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ตั้งอยู่แถบ 'วงแหวนไฟ' หรือ Ring of Fire จุดยุทธศาสตร์คล้ายเส้นเกือกม้า ยาวประมาณ 40,000 ก.ม. ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีแผ่นดินไหวและภูเขาไฟเกิดการการระเบิดขึ้นบ่อยครั้ง
ในแต่ละปี ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นและพายุระดับรุนแรงเฉลี่ยสูงถึง 20 ครั้ง โดยข้อมูลจาก Asian Development Bank ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2000 เรื่อยมาจนถึงปี 2016 ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 23,000 ชีวิตและสร้างผลกระทบให้กับผู้คนอีกอย่างน้อย 125 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมไปแล้วกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 603,200 ล้านบาท