ไม่พบผลการค้นหา
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เตรียมเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก ภายหลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ ในช่วงวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (9 ก.พ.) โดยอันวาร์จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไทย-มาเลย์พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

การเตรียมการเดินทางเยือนไทยของอันวาร์ในครั้งนี้ นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังจากการเดินทางเยือนพบปะกับผู้นำของอินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ โดยอันวาร์ได้เข้าหารือกับชาติต่างๆ บนประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และประเด็นด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวจะถูกหยิบยกมาพูดคุยกับการเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย ในครั้งนี้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะพยายามผลักดันกระบวนการสันติภาพ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย หลังจากมีการสร้างมาตรการและโครงสร้างต่างๆ มานานร่วมทศวรรษ โดยสำนักข่าวนิคเคอิเอเชียระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นจะต้องจัดการกับปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปของประเทศไทย ซึ่งกำลังจะมาถึงในเดือน พ.ค.นี้

มาเลเซียเข้ามารับบทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไทย-มาเลย์ ภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก เมื่อช่วงปี 2556 ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้ส่งคำเชิญมายัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น อย่างไรก็ดี กระบวนการสันติภาพดังกล่าวหยุดชะงักลง หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำกองทัพเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ส่งผลให้มีความสูญเสียจำนวนมาก ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย นับตั้งแต่ความขัดแย้งถูกยกระดับขึ้นเมื่อปี 2547 เกิดเหตุการลอบวางระเบิด และซุ่มโจมตีใส่เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของไทย ในขณะที่มีรายงานการบุกค้นและปราบปรามในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ ความขัดแย้งสามชายแดนใต้ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2480 หลังจากที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยอย่างยะลา นราธิวาส และปัตตานี พยายามเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง ด้วยการเชื่อมโยงความชอบธรรมภายใต้ประวัติศาสตร์รัฐสุลต่านปตานี ซึ่งถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย หรือสยามในขณะนั้น

เมื่อปีที่แล้ว มาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาหารือ 3 ครั้ง ระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไทย-มาเลย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และก่อตั้งโดยครูสอนศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ การเจรจาหารือรอบที่ 2 ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการออกแนวทางการเจรจาสันติภาพและการหยุดยิง 40 วัน ซึ่งขัดขวางการโจมตีประจำปีของ BRN ในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม

การเดินทางมายังกรุงเทพฯ ของอันวาร์ ได้รับการดำเนินการนำโดย ซุลกิฟลี ไซนัล อาบีดิน หัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งนี้ ซุลกิฟลี เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพมาเลเซีย และเขาได้รับความเชื่อถือในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ โดย พล.อ.ซุลกิฟลีได้เข้ามาทำหน้าที่แทนที่ อับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกตั้งแต่ปี 2561

ซุลกิฟลีจัดการเจรจาแบบปิดกับ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะเจรจาของไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.พ.) โดยการเจรจารอบต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ก.พ. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งนี้ ซุลกิฟลีได้แจ้งให้ตัวแทนผู้เจรจาของฝ่ายไทยทราบในวันดังกล่าวแล้ว

ทั้งอันวาร์และซุลกิฟลีจะประสบกับความยากลำบาก จากความไม่ไว้วางใจของทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้ง ทั้งนี้ ความแตกแยกระหว่างขบวนการชาตินิยมปาตานี และความแตกแยกภายใน BRN เองขัดขวางไม่ให้กลุ่มสนับสนุนการยุติการหยุดยิง ยังมีประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม BRN เป็นอย่างมาก หลังรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดการเจรจากับกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (PULO) และขบวนการอิสลามมูจาฮีดีนปาตานี (GMIP)

ปัจจุบันนี้ ตัวแทนเจรจาของ BRN หลายคนลี้ภัยอยู่ในมาเลเซีย รวมทั้ง อานัส อับดุลราห์มาน หัวหน้าคณะผู้แทน “มีความไม่เชื่อมโยงในระดับหนึ่งระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายต่อสู้” ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่ทำงานเกี่ยวกับปัตตานีและความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ ให้สัมภาษณ์กับนิคเคอิเอเชีย

แม้ว่าการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทย และ BRN จะดำเนินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่การลอบวางเพลิง วางระเบิด และการซุ่มโจมตียังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ผู้ก่อความไม่สงบในกลุ่มอายุน้อยรู้สึกผิดหวังเมื่อผู้นำทางการเมืองของ BRN ตกลงที่จะเจรจาภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการบั่นทอนการต่อสู้เพื่อเอกราชของปัตตานี

มีความก้าวหน้าในกระบวนสันติภาพเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 หลังองค์กรพัฒนาเอกชนของสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยพบตัวแทนของ BRN ในกรุงเบอร์ลิน โดยกลุ่ม BRN ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวในปี 2563 ขณะที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนที่องค์กรพัฒนาเอกชนจะหลีกทางให้มาเลเซีย เมื่อการเจรจาดำเนินไปอย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากช่องทางสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในกรุงเบอร์ลิน สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้นำในมาเลเซีย

มาเลเซียเคยมีประวัติในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการสันติภาพ รวมถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในมินดาเนา โดยกระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโร ซึ่งวางรากฐานสำหรับการจัดตั้งเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวจำเป็นต้องพึ่งพาความตั้งใจของผู้นำฟิลิปปินส์ในการเจรจาประนีประนอม

“มันไม่มีการเจรจาอย่างเปิดกว้างระหว่างกรุงเทพฯ และ BRN ไม่เหมือนตอนที่ นอยนอย อากีโน พบกับ มูราด อิบราฮิม (จากกลุ่ม MILF) ในกรุงโตเกียว” ปาทานระบุกับนิคเคอิเอเชีย โดยประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้นอย่าง เบนิกโน เอส. อากีโนที่ 3 เข้าร่วมการประชุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้ากับผู้นำกลุ่ม MILF ขณะการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในปี 2554 ซึ่งเป็นการปูทางสู่การเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ

ก่อนการเลือกตั้งในมาเลเซียในเดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา อันวาร์ได้พบกับผู้นำ BRN และ “เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ” ที่กรุงเทพฯ ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา “จะต้องมีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติและเป็นมิตร… ผมมักจะใช้การติดต่อนี้ที่ผมมีกับผู้นำบางคนที่นี่ อย่างน้อยที่สุดก็มีวาทกรรมที่สมเหตุสมผลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ยุติธรรม” อันวาร์บอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ขณะการเดินทางเยือนสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

อย่างไรก็ดี องค์กรภาคประชาสังคมต่างกังวลว่าอันวาร์จะประสบกับความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ในขณะที่การเจรจาระหว่างทางการไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงล่อแหลม นอกจากนี้ ยังมีความพยายามของรัฐบาลไทยในการรวม PULO และ GMIP เข้ามาในการเจรจา ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการผลักดันให้ BRN ออกจากโต๊ะเจรจา “ภาคประชาสังคมพอใจกับเขา แต่สุดท้ายแล้วนี่คือปัญหาของประเทศไทย อันวาร์ไม่สามารถทำอะไรได้ เว้นแต่ประเทศไทยจะยินยอมพร้อมใจ” ปาทานกล่าว


ที่มา:

https://asia.nikkei.com/Politics/Malaysia-PM-Anwar-enters-Thai-peace-talks-with-separatist-rebels?fbclid=IwAR1bdDHLdA-B90J-umoE4vivW6TiK7lazUKikKjeBxBwICXvM-9xmA2trSQ