ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยฮ่องกงมีมติไล่ออก ‘เบนนี ไต’ อาจารย์ด้านกฎหมายและนักกิจกรรมคนสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าเป็นการทำลายเสรีภาพทางวิชาการในฮ่องกง

‘เบนนี ไต’ วัย 56 ปี เป็นในแกนนำประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 ที่รู้จักในชื่อ ‘การปฏิวัติร่ม’ ซึ่งปักหลักประท้วงย่านใจกลางฮ่องกงนานถึง 79 วัน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเมื่อปีที่แล้วไตถูกตัดสินจำคุก 16 เดือนในความผิด 2 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อกวนความสงบ-v'ชุมชน แต่ได้รับการประกันตัวออกมาและอยู่ระหว่างขอยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวได้ทำให้มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) เริ่มต้นการพิจารณาประเด็นตำแหน่งของไต ก่อนที่สภาบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยคนนอกมหาวิทยาลัย จะมีมติเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ไล่เบนนี ไต ซึ่งดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายออก โดยถือเป็นการสวนมติก่อนหน้านี้ของสภาสูงของมหาวิทยาลัยซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนักวิชาการที่ระบุว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการไล่ไตออก 

หลังทราบมติ ไตได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คระบุว่า การตัดสินใจปลดเขาพ้นตำแหน่งไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมาจากทางการที่อยู่นอกเหนือไปจากมหาวิทยาลัยซึ่งใช้อำนาจผ่านตัวแทนของตัวเอง การตัดสินใจนี้ถือเป็นจุดจบของเสรีภาพทางวิชาการในฮ่องกง สถาบันทางวิชาการไม่สามารถปกป้องบุคลากรของตัวเองจากการใช้อิทธิพลแทรกแซงทั้งภายในและภายนอก

รายงานระบุว่า สมาชิกสภาบริหารของมหาวิทยาลัยมีสมาชิกทั้งหมด 23 คน โดย 18 คน มีมติสนับสนุนไล่ไตออก ส่วนอีก 2 เสียงโหวตค้าน และงดออกเสียง 1 คน โดยสมาชิกหลายคนของสภาดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาล 

ก่อนหน้านี้ เบนนี ไต ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนกล่าวโจมตีจากบทบาทของเขาในการจัดการเลือกตั้งขั้นต้นอย่างไม่เป็นทางการเพื่อสรรหาตัวแทนจากฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยชิงชัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง โดยเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลจีนชี้ว่าการเลือกตั้งขั้นต้นดังกล่าวผิดกฎหมายและอาจละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่สำหรับฮ่องกง ซึ่งแถลงการณ์ล่าสุดของสำนักงานประสานงานฮ่องกงที่ถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนระบุว่า การไล่ไตออกเป็น “การลงโทษปีศาจและส่งเสริมความมีศีลธรรม” และกล่าวหาว่าทั้งคำพูดและการกระทำของไตได้เพิ่มความขัดแย้งทางสังคม และเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองของฮ่องกง 

ทั้งนี้ มติของสภาบริหารมหาวิทยาลัยฮ่องกงมีขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกงซึ่งให้อำนาจรัฐบาลจีนมากขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้การกระทำที่เข้าข่ายแยกตัว บ่อนทำลายและ สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติเป็นความผิดทางอาญา แต่นักวิจารณ์และฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยมองว่าเงื่อนไขเหล่านี้จำกัดความไม่ชัดเจน และกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติก็พุ่งเป้าปิดฉากเสรีภาพของฮ่องกง ขณะเดียวกัน มตินี้ก็มีขึ้นท่ามกลางการรายงานของสื่อท้องถิ่นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงอาจถูกเลื่อนออกไปอีก 1 ปี จากความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 

อ้างอิง BBC / SCMP / The Guardian / CNA