ไม่พบผลการค้นหา
อัยการสูงสุด 50 คน ของสหรัฐฯ จากต่างพรรคต่างขั้วการเมือง ร่วมกันเปิดการสอบสวนกูเกิลในกรณีผูกขาดทางการค้า หลังรัฐบาลเริ่มเพ่งเล็งบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลในประเด็นการกีดกันทางการค้าและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม อัยการสูงสุด 50 คน จาก 48 รัฐของสหรัฐฯ (จากทั้งหมด 50 รัฐ) ร่วมด้วยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเครือรัฐเปอร์โตริโก ร่วมกันเปิดการสอบสวนพฤติกรรมผูกขาดของบริษัทกูเกิล ในด้านการโฆษณาและการสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต

เค็น แพ็กซ์ตัน อัยการสูงสุดรัฐเท็กซัส ผู้นำการสอบสวนครั้งนี้ กล่าวว่าการสอบสวนจะมุ่งเน้นการที่กูเกิลใช้อำนาจควบคุมผลการค้นหาและตลาดโฆษณาออนไลน์มากจนเกินไป กระทั่งเป็นพฤติกรรมผูกขาดซึ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภค

เลสลีย์ รัตเลดจ์ อัยการสูงสุดรัฐอาร์คันซอ ชี้ว่าแม้การค้นหาด้วยกูเกิลจะทำได้ฟรี แต่อาจแลกมาด้วยการเสียเสรีภาพที่จะได้เลือกซื้อสินค้าที่ดีที่สุด จากบริษัทที่ดีที่สุด เพราะการจัดและแสดงผลลัพธ์การค้นหาของกูเกิล

สำหรับอัยการสูงสุดสองรัฐที่ไม่ได้ร่วมสอบสวนในครั้งนี้ คือรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐแอละแบมา ทั้งนี้แคลิฟอร์เนียเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่กูเกิล และซิลิคอนวัลเลย์ซึ่งเป็นศูนย์รวมบริษัทด้านเทคโนโลยี

ส่วนอีก 48 รัฐ 1 เขต และ 1 เครือรัฐ ที่ร่วมการสอบสวนนั้นได้เรียกร้องให้กูเกิลจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจโฆษณาให้ตรวจสอบ โดยอัยการสูงสุดหลายรายชี้ว่านี่เป็นเพียงการสอบสอนชั้นต้น และคาดว่าจะขยายวงครอบคลุมไปยังประเด็นอื่นๆ รวมถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งานบริการของกูเกิลด้วย

อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน เฟซบุ๊ก ก็เพิ่งเผชิญกับการสอบสวนครั้งใหม่ โดยเลลิเทีย เจมส์ อัยการสูงสุด รัฐนิวยอร์ก นำทีมอัยการสูงสุดจากรัฐโคโลราโด ฟลอริดา ไอโอวา เนบราสกา นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เทนเนสซี และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ร่วมสอบสวนการผูกขาดของเฟซบุ๊กโดยมุ่งเน้นไปที่การครอบงำอุตสาหกรรมของเฟซบุ๊กและการกีดกันคู่แข่งในตลาด เจมส์ระบุว่าทีมอัยการจะตรวจสอบว่าสิ่งต่างๆ ที่เฟซบุ๊กทำก่อให้เกิดอันตรายต่อข้อมูลผู้ใช้งาน ลดคุณภาพทางเลือกของผู้ใช้งาน หรือเพิ่มราคาการโฆษณาหรือไม่

ความร่วมมือจากอัยการสูงสุดจำนวนเกือบทุกรัฐ ซึ่งมาจากพรรคการเมืองต่างขั้วกันครั้งนี้ ถูกสื่อต่างประเทศหลายแห่งนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของไมโครซอฟต์ที่ถูกฟ้องเรื่องการกีดกันทางการค้า โดยอัยการสูงสุด 20 รัฐ และกระทรวงยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไมโครซอฟต์นั้นเป็นการพุ่งเป้าไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่เพียงรายเดียว ทว่าในปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายบริษัทกำลังถูกเพ่งเล็งโดยหน่วยงานที่อำนาจกำกับดูแลทั้งในสหรัฐฯ และนอกประเทศ

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เผยว่ากำลังพิจารณาว่าบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายรายมมีพฤติกรรมในการกำจัดคู่แข่งหรือเป็นภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ แม้ว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อบริษัท แต่ทางกระทรวงระบุว่าเป็นธุรกิจด้านการสืบค้นข้อมูล โซเชียลมีเดีย และบริการค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งสื่อหลายเจ้ามองว่าย่อมถึงกูเกิล เฟซบุ๊ก แอปเปิล และแอมะซอนด้วย

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังเผชิญกับการสอบสวนและการพิจารณาเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานหลายกรณีด้วยกัน และบางกรณีก็มีการตัดสินแล้ว เช่น คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่ากูเกิลตกลงยอมจ่ายจ่ายค่าปรับ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5,200 ล้านบาท) ในกรณีที่ยูทูบละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งานที่เป็นเด็ก ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้วเฟซบุ๊กก็ได้ตกลงยอมจ่ายค่าปรับ 5 พันล้านสหรัฐฯ (ราว 153,000 ล้านบาท) ในคดีเคมบริดจ์แอนะลิติกา ซึ่งเฟซบุ๊กปล่อยให้ข้อมูลผู้ใช้งานถึง 87 ล้านบัญชีถูกนำไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้นที่บริษัทเหล่านี้ตกเป็นเป้าของการตรวจสอบ เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ กูเกิลถูกสหภาพยุโรปสั่งปรับ 1.49 พันล้านยูโร (ราว 5 หมื่นล้านบาท) ฐานกำหนดเงื่อนไขไม่เป็นธรรม กีดกันไม่ให้เว็บไซต์ใช้แพลตฟอร์มจัดสรรโฆษณาออนไลน์อื่นนอกจากแอดเซนส์ (AdSense) ของกูเกิล ขณะที่ในปี 2017 กูเกิลก็ถูกสหภาพยุโรปสั่งปรับเป็นเงิน 2.4 พันล้านยูโร (กว่า 8 หมื่นล้านบาท) ฐานผูกขาดทางการค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยการแสดงผลข้อมูลร้านค้าในเครือกูเกิลมากกว่าคู่แข่งบนฟีเจอร์กูเกิลชอปปิง

และในอีกคดีหนึ่งกูเกิลยังยื่นอุทธรณ์ต่อการตัดสินของอียู ที่สั่งปรับกูเกิล 4.3 พันล้านยูโร (ราว 145,000 ล้านบาท) ตั้งเงื่อนไขไม่เป็นธรรมให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ต้องลงแอปฯ หลายตัวของกูเกิล

ที่มา: Forbes / Verge / NY Times / Guardian / Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: