นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแบบนิวนอร์มอล โดยเป็นการบูรณาการทำงานกันทุกภาคส่วน ซึ่งในการประชุมวันนี้มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีร่วมประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อคิดเห็นจากทุกคน และมีข้อเสนอหลายอย่าง ทั้งจุลภาค ฐานราก มหภาค
พร้อมกันนี้ในที่ประชุม ภาคเอกชนได้มีการเสนอจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับมาพิจารณาในเชิงกฎหมาย และสั่งให้หาข้อมูลตั้งเป็นทีมดัชนีรวดเร็วขึ้นมา เพื่อติดตามปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที
รวมทั้งได้หารือเรื่องมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการผ่อนคลาย มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มท่องเที่ยว เพื่อทำงานแบบนิวนอร์มอล รับฟังจากล่างขึ้นบน รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญ การมองเห็นภาพรวมของงบประมาณต่างๆ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการระยะยาว รวมถึงการแก้กฎหมายต่างๆ ให้เดินหน้าไปได้ นับว่าวันนี้เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ
โดยนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ดูกระบวนการทำงานให้สอดรับกับการทำงานของ ครม.เศรษฐกิจและรัฐบาล
ส่วนประเด็นที่จะนำเข้า ครม.เศรษฐกิจนั้น จะดูในเรื่องที่สอดรับกับการเตรียมการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เช่น เรื่องมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี การลดภาระผู้ประกอบการ ลดภาระการชำระหนี้ซึ่งเวลานี้มีการขยายไปถึงประมาณเดือน ต.ค. ดังนั้นจึงมีการหารือกันว่าจะสามารถขยายไปได้อีกเท่าใด รวมการเพิ่มสภาพคล่องของกองทุนสำหรับเอสเอ็มอีต่างๆ โดยขอระยะเวลาในการลงรายละเอียดร่วมกับสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) รวมไปถึง การพิจารณาให้ บสย.เพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อได้อีกหรือไม่ อย่างไร รวมถึงมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และมาตรการการค้าชายแดนต่างๆ
อย่างไรก็ดี เรื่องรูปแบบศูนย์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ต้องขอให้ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจหาแนวคิด ที่ต้องการรวมศูนย์การแก้ไขอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีเอกภาพ โดยต้องหาสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการรักษาโรคและปากท้องของประชาชน ซึ่งนายกฯ จะนำไปพิจารณาและจะประกาศเองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวได้นำข้อเสนอแนวคิด ว่าจะทำอย่างไรที่สามารถดูแลภาคท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาอยู่ได้ รวมไปถึงการเสนอจัดทำแพลตฟอร์มจองโรงแรมในไทย เพื่อไม่ให้เสียค่าส่วนต่างที่สูง และยังมีการเสนอช่วยการผ่อนปรนโรงแรมที่ไม่ถูกกฎหมายในระยะสั้น
ส่วนการเยียวยา ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยเพิ่มเติม ซึ่งต้องมองตั้งแต่เเรกจนสุดท้ายว่าจะเกิดผลพวงอะไรเกิดขึ้นมา และในช่วงถัดไปจะเป็นปัญหาเรื่องสายป่านกำลังหมด ต้องคิดว่าจะประคองเอสเอ็มอีต่อไปอย่างไร และกระตุ้นการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ ตนรู้สึกเห็นใจนักศึกษาจบใหม่ที่จะตกงานกว่า 4 แสนคน และกำลังหาทางออกต่อไป
โดยในช่วงท้าย นายกอบศักดิ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงประเด็นทางการเมือง โดยระบุว่า หากผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการเมือง ตนจะเดินหนี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :