วันที่ 24 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวง สธ. รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ
แพทองธาร กล่าวในที่ประชุมว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 ปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ แต่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง โดยแก้ไขจุดที่เป็นปัญหา และความทุกข์ของประชาชนคือ ความเหลื่อมล้ำ, ความแออัด, ระยะเวลารอคอย, คุณภาพการรับการรักษา และการเข้าถึงการบริการ
แพทองธาร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันระหว่างปี 2531 ถึงปี 2560 หลังจากการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าครัวเรือนที่ต้องการ เป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนลดลง เห็นได้ชัดตั้งแต่ 250,000 ครัวเรือนในปี 2531 เหลือเพียง 52,600 ครัวเรือนในปี 2560 ซึ่งถือได้ว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จในการประกาศใช้มาแล้วกว่า 20 ปี
“วันนี้จำเป็นจะต้องยกระดับนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายนี้จะยังคงเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับประชาชน ทุกๆ คนในพื้นที่ ในประเทศไทย และเป็นการปูทางสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นของโครงสร้างระบบสาธารณสุขในทุกมิติ“ แพทองธาร กล่าว
แพทองธาร ย้ำว่า การพัฒนาหลักประกันสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบบริการ ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมด สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อเข้ารับการบริการรักษาได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน คลินิก หรือร้านขายยาใกล้บ้าน โดยยึดหลัก “ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง” ผ่านระบบเทเลเมดีซีน (Telemedicine)
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวเสริมว่า เรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ทุกหน่วยบริการทั้งใน และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะดำเนินการนำร่อง 4 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค คือ จ.แพร่ จ.ร้อยเอ็ด จ.เพชรบุรี และจ.นราธิวาส โดยหลังจากนำร่องแล้ว จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ
สำหรับการหารือ 5 เรื่องเร่งด่วน เพื่อยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งใน และนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่
1. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่
2. การรักษามะเร็งครบวงจร และการให้วัคซีน HPV จำนวน 1,000,000 โดส
3. สถานชีวาภิบาล
4. การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่
5. การบำบัดผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง สธ. กล่าวว่า การพัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่นั้น จะมีการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ทั้งโรงพยาบาลรัฐสังกัด และนอกสังกัดกระทรวง สธ. รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิก ร้านขายยา และโรงพยาบาลเอกชน
2. พัฒนาระบบยืนยันตัวตน ผ่านระบบ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) , e-KYC, ThaiD, NDID และHealthID เพื่อตรวจสอบสิทธิ และยืนยันเข้ารับบริการ
3. พัฒนาระบบ MOPH Data Hub เพื่อบันทึกประวัติสุขภาพ และธุรกรรมต่างๆ ทางการแพทย์ อาทิ สมุดสุขภาพประชาชน ใบสั่งยา สั่งแล็ป บริการจ่ายเงินออนไลน์ การส่งต่อการรักษา ฯลฯ
4. พัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชน ผ่านระบบ LINE OA หรือแอปพลิเคชัน
โดยวางเป้าหมายไว้ 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 มกราคม 2567 คือ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือ, สมุดสุขภาพประชาชน, ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล, ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์, การแพทย์ทางไกล และเภสัชกรรมออนไลน์, นัดหมายออนไลน์ และการแจ้งเตือน, บริการรับ-ส่งยาทางไปรษณีย์ และการเบิกจ่ายกับกองทุนสุขภาพผ่านระบบ Financial Data Hub
ส่วนระยะที่ 2 เมษายน 2567 คือ บริการจ่ายเงินออนไลน์, การส่งต่อการรักษาโดยไม่ใช้ใบส่งต่อ, บริการเจาะเลือด ห้องแล็ปใกล้บ้าน และเชื่อมโยงข้อมูล ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน