ไม่พบผลการค้นหา
'แอมเนสตี้-รุ้ง' ยื่น 28,426 รายชื่อถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่าง

เมื่อเวลา 10.00 น. บริเวณแยกนางเลิ้ง มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล ​นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพร้อมกับ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นำ 28,426 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนและรับฟังคำมั่นสัญญาต่อประชาชนในการปฏิบัติเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการไทย

​ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ในวันนี้ตนเป็นตัวแทนของสมาชิกแอมเนสตี้ทั่วโลก ที่ต้องการเรียกร้องโดยการรณรงค์ปฎิบัติการด่วน ซึ่งปฎิบัติการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากนักกิจกรรม แกนนำ และผู้ใช้สิทธิต่าง ๆ ถูกคุกคาม และแกนนำต่าง ๆ ก็ถูกคุมขังอยู่ 

LINE_ALBUM_211101_3.jpg

"หลายคนยังถูกจองจำอยู่ เราเองก็หวั่นในเรื่องสุขภาพของคนที่อยู่ภายใน อย่างไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ รวมถึงในเรื่องคดีความเองก็ต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว ไม่ควรมีใครถูกจองจำเพียงเพราะใช้สิทธิของเขา สำหรับปฎิบัติการด่วนนี้ เราใช้เวลากว่า 3 อาทิตย์จึงได้รายชื่อมาโดยรวมเกือบ 30,000 รายชื่อ ในหลายช่องทางจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้นายกพิจารณา ให้ทำตามหน้าที่ที่ประเทศไทยมีพันธะกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนในสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุม สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองด้วย 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้มีการสืบสวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่ได้กล่าวทุกครั้งว่าได้ทำตามสิทธิ ทำตามสัดส่วนความจำเป็นที่เหมาะสมแล้ว ขอให้มีความโปร่งใสในการรายงานที่เป็นธรรม 

“กรณีของ "วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่เสียชีวิตไปนั้น ยังคงรอผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และมี 1,600 กว่ากรณีตัวอย่างที่มีการชุมนุม และมีเกือบ 300 กรณีที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีทางอาญาเพียงเพราะออกมาใช้สิทธิ มันไม่ควรจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในประเทศ แอมเนสตี้ฯ สมาชิกทั่วโลกจึงขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เคารพสิทธิปล่อยผู้ถูกคุมขัง ได้ออกมาต่อสู้ตามสิทธิของพวกเขา” ปิยนุช กล่าว

LINE_ALBUM_211101_14.jpg

ด้าน ปนัสยา กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นต้องพูดถึงในตอนนี้คือการให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทุกคน เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่สมควรอยู่ในเรือนจำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การเมืองคือการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ทางความคิด แต่เมื่อผู้มีอำนาจจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าละอายมากในสายตาประชาคมโลก เราพร่ำพูดว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย เราพร่ำพูดว่าอยากให้เด็กเป็นอนาคตของประเทศ แต่เมื่อเด็กเหล่านี้รับรู้ถึงปัญหาแล้วออกมาพูดกลับถูกจองจำและดำเนินคดี ในเรือนจำเองนั้นก็ยังแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ ถ้าไม่มีคนออกมาพูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อข้างใน ก็คงไม่มีใครรู้ จึงอยากให้ปล่อยเพื่อนเราออกมาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

"ถ้าจะต่อสู้ทางความคิดกัน ก็ออกมาสู้กันข้างนอกดีกว่า อย่าเอาใครไปจับขังอีกเลย ฝากถึงรัฐบาลว่าคิดดีแล้วหรือ การกระทำเช่นนี้มันคิดเห็นเป็นอื่นไม่ได้ ว่าพวกเขากลัวความจริง" ปนัสยา กล่าว

สำหรับการยื่นหนังสือวันนี้นั้น สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นตัวแทนเข้ารับหนังสือแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้กล่าวสั้น ๆ ว่า หลังจากได้รับหนังสือแล้วจะรีบนำเอกสารและข้อเรียกร้องนำเสนอแก่นายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุดต่อไป

LINE_ALBUM_211101_1.jpg

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

1. ยุติการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในขณะนี้

2. อนุญาตให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมโดยสงบได้ และไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจนเกินขอบเขตที่อาจเป็นการจำกัดการใช้สิทธิของพวกเขาโดยพลการ

3. ให้ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และโปร่งใสต่อการรายงานที่ว่ามีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการควบคุมตัวบุคคลและควบคุมการชุมนุมในทุกกรณี ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติของตำรวจที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย