ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา '7 ผู้สถาปนาคณะราษฎร' ชี้แกนนำหลายคนไม่มีข้อมูลให้สืบค้นเพียงพอ 'ประจักษ์ ก้องกีรติ' บอกน่าเศร้า 87 ปีคนไทยยังไม่รู้จักผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 ด้านนักวิชาการแนะควรหาอ่านรายงานการประชุมสภายุคคณะราษฎร ซัดรัฐประหาร 2490 สิ้นสุดยุคคณะราษฎรพร้อมทำลายหลักการกระจายอำนาจการปกครอง

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดเสวนา ปฏิวัติ 2475: อยากจำ VS อยากลืม ว่าด้วย "7 ผู้สถาปนาคณะราษฎร" ซึ่งประกอบด้วย นายปรีดี พนมยงค์ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว ลพานุกรม ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดีนายจรูญ สิงหเสนี

นายกษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการและคอลัมนิสต์ ด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวถึง นายแนบ พหลโยธิน ว่า เกิดปีเดียวกันกับนายปรีดี เป็นบุตรพี่ชายหรือมีศักดิ์เป็นหลานพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก แต่ไม่ได้เป็นคนชักชวนเข้าร่วมพระยาพหลฯ เข้าร่วมก่อการปฏิวัติ 2475 โดยเรียนเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ และเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ประเทศฝรั่งเศส กลับสยามปี 2474 เป็นผู้พิพากษาระยะหนึ่ง แม้ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองมากนัก แต่มีผลงานโดดเด่นด้านเศรษฐกิจ เป็นอธิบดีกรมคลังหรือกรมธนารักษ์ถึง 20 ปี โดยปี 2485 เป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนลาออกในปี 2489 นิสัยส่วนตัวเป็นคนสุภาพ อ่อนโยนและไม่ข่มขู่ใคร

ส่วนนายตั้ว ลพานุกรม หรือ ดร.ตั้ว จบด็อกเตอร์วิชาเคมีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเรียนต่อเภสัชที่เยอรมนี มีบทบาทรวบรวมคนเข้าร่วมกับคณะราษฎรได้จำนวนมาก ซึ่ง ดร. ตั้ว เคยย้ำว่า ไม่ได้เกลียดสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ต้องการให้ประเทศปกครอง ตามแนวทางที่ถูกที่ควร โดยมีรัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายแบบอารยะประเทศ งานโดดเด่นคือด้านวิทยาศาตร์ เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งการดูงานต่างประเทศไม่เคยเบิกงบฯทางการ แต่ใช้เงินส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ประวัติ ดร.ตั้ว กับนายแนบ มีให้ศึกษาน้อยมาก โดยส่วนของ ดร.ตั้ว ศึกษาจากหนังสืองานศพที่เจ้าตัวต้องการให้ผู้เขียนคำไว้อาลัยด้วยลายมือ

ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม อดีต เอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีหลายกระทรวงเขียนไว้ว่า ดร.เป็นคนหนักเเน่น มันคง โดยก่อนก่อการ 24 มิ.ย. 2475 ดร.ตั้ว พูดประโยคที่ว่า "ทำเดี๋ยวนี้ หรือไม่ก็ไม่ทำเลย" ซึ่งเป็นแรงผลักสำคัญในการก่อการปฏิวัติ 2475 แต่เจ้าตัวเขียนบทความหลายชิ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับการเมืองและ เิกราขทางเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นความมุ่งหมายว่าต้องการใช้วิทยาศาสตร์เป็นรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ

นายกษิดิศ ยังบรรยายถึงบุคคลสำคัญคนที่ 3 คือ นายจรูญ สิงหเสนี หรือหลวงสิริราชไมตรี ซึ่งมีประวัติให้ศึกษาเกี่ยวกับคณะราษฎรได้น้อยมากอีกเช่นกันแม้ชัดเจนว่าเป็น 1 ใน 7 ผู้ร่วมก่อตั้ง โดยเครือญาติรุ่นบิดาและปู่ของนายจรูญ มีส่วนลงชื่อในหนังสือถึงรัชกาลที่ 5 ขอให้ปฏิรูปการปกครอง กรณี รศ.103 ด้วย โดยบิดานายจรูญ เป็นเจ้าพระยารับราชการกระทรวงมหาดไทย ส่วนตัวนายจรูญเป็นข้าราชการต่างประเทศ เป็นเอกคราชทูตที่อิตาลีิและหลายประเทศ รวมเวลาราว 20 ปี หลังการปฏิวัติ 2475 ยังอยู่ต่างประเทศและกลับไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเจ้าตัวไม่ค่อยเขียนบันทึกอะไร แม้เพิ่งเสียชีวิตในปี 2534 ค้นพบเพียงการเขียนโครง "เทอดรัฐธรรมนูญ" ต่างจากนายปรีดีและคนอื่นๆที่มีอายุยืน ที่มีงานเขียนให้สืบค้นสืบค้นความคิดทางการเมืองได้จำนวนมาก

เสวนาคณะราษฎร 351.jpg

'ประยูร' สนิท 'ปรีดี' ชวนทำปฏิวัติ 2475

น.ส.ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ผู้เขียนหนังสือ"ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ" กล่าวถึง พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเกิดในตระกูลนายทหาร เป็นคนกว้างขวาง และมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ 2475 โดยเรียนร่วมชั้นกับจอมพล ป. ก่อนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสพบกับนายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงหลังนำสู่การพบกับจอมพล ป.และนายปรีดี ซึ่ง พล.ท.ประยูรสนิทกับนายปรีดีมาก ปี 2468 เป็นผู้ออกปากชวนนายปรีดีก่อการปฏิวัติและนำไปพบผู้นำคณะราษฎรคนอื่นๆ โดยการพูดคุยจะใช้ สถานที่คือบ้านพักของพล.ท.ประยูรเป็นส่วนใหญ่ 

น.ส.ปฐมาวดี ระบุว่า เรื่องราวเกี่ยวกับการก่อการปฏิวัติ 2475 จาก พล.ท.ประยูร ศึกษาได้จากงานเขียนหลายชิ้นโดยเฉพาะ หนังสือ "ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า" ที่เขียนโดยพล.ท.ประยูร เอง ซึ่งบันทึกเงื่อนไขกันการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นข้อตกลงร่วมกันไว้ หลักๆ 3 ข้อคือ 1.เปลี่ยนให้มีรากฐานประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและปฏิเสธแนวทางสาธารณรัฐ

2.ใช้แนวทางการปฏิวัติที่ไม่ใช้การจราจล และหลีกเลี่ยงการนองเลือด ซึ่งจะไม่ดำเนินการตามแนวทางแบบประเทศฝรั่งเศส

3.เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วต้องบริหารประเทศด้วยความสุจริตไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

โดยเบื้องต้นไม่ได้กำหนดลัทธิทางการเมืองเพียงแต่มุ่งหวังให้มีรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศโดยมีหลักการดำเนินการ 3 อย่างคือ

1.ศึกษาการปฏิวัติของประเทศต่างๆ รวมถึง การดูงานเกี่ยวกับโรงพิมพ์และการชุมนุมของมวลชนในต่างประเทศ

2.กำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะเข้าร่วมในการก่อการ

3.การระดมทุนโดยช่วงแรกเรี่ยไรเงินส่วนตัว โดยระบุแผนการเข้ายึดอำนาจการปกครอง 3 แผน คือ นัดประชุมเสนาธิการทหารที่ศาลาว่าการกลาโหม 2.ส่งหน่วยทหารตามวังเจ้านายจัดการสื่อสารและรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วนแผนลวง และ 3.​ไปที่วังบางขุนพรหมเพื่อควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่กุมอำนาจทหารบกไว้มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งคณะราษฎรใช้ข้อ 2 และข้อ 3 ในการก่อการ

โดยหลังจากกลับประเทศไทยแล้ว พล.ท.ประยูร ได้ทำงานประจำกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งผู้เวลาเป็นผู้ฝากเข้าอันเป็นวัฒนธรรมในสมัยนั้นที่ไม่ได้มีการสอบเข้าบรรจุแต่อย่างใด และเริ่มมีการติดต่อกับฝ่ายทหาร รวมถึงพระยาพหลฯ และพลเรือนในประเทศ มีการคุยกันหลายครั้ง รวมถึงเช่าเรือเพื่อประชุมงานรับด้วย ซึ่งพบว่ามี การขัดแย้งหลักการในหมู่ผู้ก่อตั้งคณะราษฎรใน 2 เรื่องคือ พระยาทรงสุรเดชกับจอมพล ป กรณีการปฏิรูปกองทัพซึ่งพระยาทรงสุรเดช ต้องการให้ยกเลิกกองทัพหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่จอมพล ป.ไม่อยากให้กระทำการที่สะเทือนต่อกองทัพช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ เรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจของนายปรีดีที่พระยาทรงสุรเดช มองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องการรัฐธรรมนูญ เท่านั้นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ควรให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสิน

ชัชฏา กำลังแพทย์ เสวนาคณะราษฎร 354.jpg

ยก จอมพล ป. สร้างประชาธิปไตย ต้านฟื้นระบอบเก่าช่วงเปลี่ยนผ่าน

น.ส.ชัชฎา กำลังแพทย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ ด้านการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง เรื่องราว จอมพล ป. นักเรียนการทหารที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญทางทหาร ในการปราบกบฏบวรเดชและเป็นผู้ที่มีความคิดแน่วแน่มั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระบอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเป็นนายกรัฐมนตรี 2 วาระ รวมระยะเวลา 15 ปี สะท้อนให้เห็นแนวคิดรัฐนิยม ให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ จอมพล ป. ถูกลอบสังหารหลายครั้งแต่รอดชีวิตมาได้ และมีช่วงตกต่ำคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการมีรัฐประหารปี 2490 จอมพล ป.จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถผลักดันแนวคิดประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของคณะราษฎรอย่างเข้มข้นเหมือนเดิมได้

น.ส.ชัชฎา กล่าวด้วยว่า แม้คนมองภาพลักษณ์จอมพล ป.ว่ามีลักษณะเผด็จการ แต่ได้สร้างคุณูปการหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นเจตนาในการสร้างประชาธิปไตยและต่อต้านการรื้อฟื้นระบอบเก่าของชนชั้นนำเก่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอธิบายได้ผ่านแนวคิดการเมืองวัฒนธรรม รวมถึงการ กำหนดวันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติ การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนชื่อประเทศ การกําหนดวัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆให้สอดคล้องกับสากล รวมถึงการคิดค้นผัดไท มีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ยกระดับบทบาทสตรี มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนสิทธิชุมนุมและวิจารณ์รัฐบาลและมีการเคลื่อนไหวมวลชนครั้งแรกในยุคจอมพล ป.นี้ ก่อนถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์รัฐประหารปี 2500 และถือเป็นการสิ้นสุด อำนาจของคณะราษฎร และมีการยกเลิกวันชาติ 24 มิ.ย.ด้วย

ธำรงศักดิ์ 0350.jpg

ร.ต.ทัศนัย ดุดันเก็บความลับได้-คนแรกใช้รถถังยึดอำนาจคืนจากพระยามโนฯ

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี 1 ใน 7 ผู้ก่อตั้งคณะราษฎรว่าเป็นนายทหารม้าที่ จ.นครราชสีมา จบจากโรงเรียนทหารในประเทศฝรั่งเศสโดยใช้ทุนส่วนตัว และเสียชีวิตเร็วเกินไปหลังการปกครองเพียงปีเดียว คือปี 2476 โดย ร.ต.ทัศนัยเป็นคนดุดัน หรือขาลุย มีใจนักเลง ซึ่งจุดเด่นที่เป็น 1 ใน 7 ผู้ก่อตั้งคณะราษฎร คือ การเป็นคนเก็บความลับได้ และเป็นคนที่มีความคิดเปิดกว้าง เพราะคนอย่างนายควง อภัยวงศ์ หรือคนอื่นๆก็ได้เข้าร่วมทีหลัง แม้อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญแต่ก็ไม่ได้ถูกเชิญหรือรับรู้ตั้งแต่ตอนแรก โดยเฉพาะนายควง ซึ่งเป็นคนพูดมากไม่สามารถเก็บความลับได้ นอกเหนือจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง กับกลุ่มผู้ก่อตั้งคณะราษฎร โดยเมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก่อการรัฐประหารวันที่ 1 เม.ย. 2476 โดยการใช้กฎหมาย ด้วยการประกาศพระราชกฤษฎีการ่วมสภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจออกกฎหมายได้ด้วยนั้น ร.ต.ทัศนัย เป็นคนแรกที่เสนอให้สตาร์ทรถถังเพื่อยึดอำนาจคืน

สำหรับการไปเรียนต่างประเทศนั้นเดินทางพร้อมกับจอมพล ป. โดยนั่งรถไฟ ต่อไปที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะต่อเรือไปที่ประเทศฝรั่งเศสใช้ระยะเวลาเดินเรือ 1 เดือน ซึ่งการพูดคุยกับจอมพล ป.ในช่วงเวลานี้ ได้เรียนรู้ความคิดกันมากพอสมควร ซึ่งในวันก่อการ ร.ต.ทัศนัย ได้ควบคุมทหารม้าในพื้นที่เมืองหลวงและเป็นผู้บังคับบัญชากองพันทหารม้าหลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ชี้ ปรีดี ให้ปชช.เป็นเจ้าของประเทศ ซัดรัฐประหารทำลายกระจายอำนาจ

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงนายปรีดี ผู้นําคณะราษฎรสายพลเรือนซึ่งศึกษากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส อยู่ในกลุ่มที่อายุน้อยที่สุดคือ 26 ปีที่คิดก่อการปฏิวัติ 2475 ลักษณะเด่นชัดคือ ชอบอ่านหนังสือและครุ่นคิด มีความมั่นคงในอุดมการณ์และไม่หวั่นไหว คล้ายกับดร.ตั้ว เมื่อนายปรีดีกลับจากประเทศฝรั่งเศส รับสอนหนังสือ และบรรยายพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายและทำโรงพิมพ์ โดยวันก่อการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ภรรยาไม่ทราบเรื่องมาก่อน โดยวันที่ 23 มิ.ย. 2475บอกกับภรรยาว่าจะไปพบพ่อ ที่ต่างจังหวัดเพื่อขอลาบวชแต่ใช้เวลาในการล่องเรือที่คลองโอ่งอ่างในการเขียนประกาศคณะราษฎรเพื่อใช้ในวันรุ่งขึ้น

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ชี้ถึงบทบาทสำคัญของนายปรีดี คือการร่างรัฐธรรมนูญให้มาตรา 1 มีความสำคัญว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ การสร้างระบบรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่รัฐบาลคณะราษฎรทุกชุด ล้วนต้องนำมาประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลตามอุดมการณ์ด้วย ที่สำคัญคือมุ่งงานกระจายอำนาจการปกครอง โดยให้มีเทศบาลทุกตำบลที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง ก่อนเปลี่ยนแปลงไปหลังการรัฐประหารปี 2490 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าคณะรัฐประหารที่ผ่านมา มุ่งทำลายหลักการกระจายอำนาจของคณะราษฎรนี้ จึงมักให้ถ่วงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยไม่ค่อยรับรู้ หรือ ใส่ใจบุคคลสำคัญเหล่านี้ มีเพียงจอมพล ป.ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองกับนายปรีดี ซึ่งมีงานเขียนออกมาในช่วงหลัง พร้อมแนะนำให้ศึกษารายงานการประชุมสภาฯในยุคที่คณะราษฎรยังมีอำนาจ จะเห็นแนวคิดอุดมการณ์และเรื่องที่น่าสนใจอีกมาก

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า น่าเศร้าที่ 87 ปีผ่านมา สังคมไทยไม่ได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเกิดจากหลายเงื่อนไข รวมถึงเจ้าตัวก็ไม่ได้เขียนบันทึกไว้ โดยเฉพาะหลังคณะราษฎรหมดอำนาจลง ยิ่งทำให้การศึกษาได้ยากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง