ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศอาเซียนผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังคุมเข้มตรวจคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ โดย 'มาเลเซีย' ประกาศข้อบังคับให้นายจ้างพาแรงงานต่างชาติไปตรวจ ขณะที่สิงคโปร์-ไทย พบแรงงานต่างชาติติดเชื้อเพิ่มเติม ด้านองค์กรแรงงานเสนอรัฐบาลขยายเวลาต่ออายุวีซ่าทำงาน

สำนักข่าว Reuters และ อนาโดลู (AA) รายงานว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ หลังผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายใหม่ในประเทศเริ่มคงที่ หรือลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง โดย 'มาเลเซีย' และ 'ไทย' อนุญาตให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการได้แล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีคำสั่งปิดกั้นการเดินทางและระงับกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่เดือน มี.ค.

ส่วน 'สิงคโปร์' ประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ภายในวันที่ 1 มิ.ย. แต่ขณะนี้อนุญาตให้กิจการบางประเภทกลับมาดำเนินการได้แล้ว โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะกลับมาเปิดอีกครั้งในวันที่ 19 พ.ค.

กลุ่มคนที่รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเร่งตรวจคัดกรองอยู่อย่างต่อเนื่อง คือ แรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ตามหอพักต่างๆ เพราะเป็นกลุ่มที่พบการติดเชื้อและแพร่ระบาดระหว่างกันมากที่สุดในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 18,778 ราย และผู้เสียชีวิต 18 ราย แต่แรงงานเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลสิงคโปร์เช่นเดียวกับพลเมืองในประเทศ

บทเรียนของสิงคโปร์ทำให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ กวดขันเรื่องการคัดกรองแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยกรณีของ 'มาเลเซีย' รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบนำตัวแรงงานต่างชาติไปตรวจคัดกรองว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไม่ ถ้าฝ่าฝืนคำสั่งถือว่ามีความผิด ขณะที่สถิติผู้ติดเชื้อสะสมในมาเลเซียอยู่ที่ 6,353 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 105 ราย ขณะที่แรงงานต่างชาติในมาเลเซียส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย บังกลาเทศ อินเดีย และเนปาล 

รัฐบาลท้องถิ่นในบางรัฐของมาเลเซียยังประกาศด้วยว่า จะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมระบุว่าจะดูสถานการณ์ต่อไปจนกว่าจะถึงวันที่ 12 พ.ค.ที่เป็นกำหนดการยุติมาตรการล็อกดาวน์ดั้งเดิมของรัฐบาลกลางมาเลเซีย


ไวรัสไม่รู้จัก 'เส้นแบ่งพรมแดน'

ก่อนหน้านี้ 'บิล เกตส์' ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์และมหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของโลก เขียนบทความเรียกร้องให้นานาประเทศ 'ร่วมมือกัน' ในการรับมือและป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเขาระบุว่า ไวรัสไม่รู้จักเส้นแบ่งพรมแดน การจะป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกๆ ประเทศจะต้องร่วมมือกัน หากป้องกันโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกประเทศก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดต่อไป

บทความของเกตส์เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ The Telegraph ของอังกฤษตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศร่ำรวยทุ่มเทงบประมาณช่วยเหลือประเทศที่ยากจนหรือกำลังพัฒนา เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเรื่องฉุกเฉิน หลายประเทศไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันเวลา ก็จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคโควิด-19 อยู่ดี

บิล เกตส์ และเมลินดา ผู้เป็นภรรยา ได้ผันตัวไปทำมูลนิธิการกุศลด้านสาธารณสุขและการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ระบุว่า สิ่งที่ผู้นำประเทศต่างๆ ควรทำ คือ ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาด้านสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือประชากรโลกที่ยากที่สุด และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ได้เป็นแค่เรื่องถูกต้องที่สมควรทำ แต่ยังเป็นเรื่องชาญฉลาดที่สุดที่ต้องทำด้วย

รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 30 เม.ย. ระบุเช่นกันว่า การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานทั่วโลกและจะร้ายแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยแรงงานราว 1,600 ล้านคน ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลก กำลังเผชิญความเสียหายรุนแรงต่อการทำงานหาเลี้ยงชีพ และสำหรับแรงงานหลายล้านคนแล้ว การไม่มีรายได้หมายถึงไม่มีอาหาร ไม่มีความมั่นคง และไม่มีอนาคต


แรงงานต่างชาติในไทย ต้องได้รับการคุ้มครอง 

สถานการณ์ด้านโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างชาติของประเทศไทย ถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ 'ศูนย์ข้อมูลโควิด-19' ได้เผยแพร่สถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทย พบว่าบุคคลสัญชาติไทยติดเชื้อเป็น 0 แต่ "แรงงานต่างด้าวติดเชื้อ 18 คน" ซึ่งภายหลังภาพดังกล่าวจะถูกลบออกไป แต่ก็เป็นภาพที่บ่งชี้ชัดเจนว่าแรงงานชาวต่างชาติเป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ

FB_ศูนย์ข้อมูลโควิด แรงงานต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม รายงานของไอแอลโอเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยช่วงโควิด-19 ได้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยให้คุ้มครองแรงงานต่างชาติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกับบุคคลสัญชาติไทย เนื่องจากเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในสถานการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ และแรงงานกลุ่มที่ลงทะเบียนอย่างถูกกฎหมายยังเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วยเช่นกัน 

ไอแอลโอระบุว่า รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติ ทั้งในระบบและนอกระบบ ต้องได้รับความคุ้มครองโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ รวมถึงต้องลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาละเมิดหรือปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะการลงพื้นที่เก็บข้อมูลช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. พบว่าแรงงานต่างชาติจำนวนมากต้องอพยพกลับบ้านเกิด เพราะไม่มีงานและไม่มีเงินช่วยเหลือในช่วงที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ 

นอกจากนี้ แรงงานบางส่วนถูกยึดเอกสารสำคัญในการเดินทาง ทั้งยังต้องทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันด้านความปลอดภัย ในขณะที่พนักงานชาวไทยมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย และชุดป้องกัน PPE จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้มงวดกวดขันให้นายจ้างคุ้มครองแรงงานต่างชาติเหล่านี้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

ข้อเรียกร้องที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือรัฐบาลไทยต้องขยายเวลาลงทะเบียนต่ออายุการทำงานของแรงงานต่างด้าวไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.2563 ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาลไทยได้ปฏิบัติตามไปแล้ว ได้แก่ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และช่องทางติดต่อขอความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มแรงงานต่างชาติในไทย โดยใช้ภาษาแม่ของแรงงานกลุ่มหลักๆ ในไทย ได้แก่ ลาว กัมพูชา และพม่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: