นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2563 พบมีบางพื้นที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยเฉพาะจังหวัดชัยภูมิมีความกังวลปริมาณน้ำในลุ่มน้ำพรม-เชิญจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับน้ำสำรอง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการปั่นกระแสไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันว่าปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนจะต้องไม่ลดต่ำไปมากกว่านี้ เพราะส่งผลกระทบกับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ชัยภูมิและขอนแก่น 6 สาขาได้ไม่ถึงวันที่ 30 มิ.ย. นี้ จึงให้กรมชลประทานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการระบายน้ำในเขื่อนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการผลิตน้ำประปาให้ถึงแผนที่วางไว้
ส่วนชลบุรีได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระแล้ววันละ 200,000 – 300,000 ลูกบาศก์เมตร จากแผนการระบายน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้จริงเพียง3 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จึงความร่วมมือจากทหารและจังหวัดตรวจสอบปริมาณน้ำที่ระบายลงมาจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงเข้าสู่ระบบพานทองสามารถดึงเข้าระบบอ่างเก็บน้ำบางพระได้หรือไม่ และปริมาณน้ำจำนวนมากที่หายไปไหน พร้อมทั้ง ได้วิเคราะห์สถานการณ์กรณีฝนทิ้งช่วงหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ขณะที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ได้รับปริมาณน้ำจากพายุฤดูร้อนช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ย 50 – 90 มิลลิเมตร ช่วยเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำได้ประมาณ 100,000 - 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝนจะตกในลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 24 มิ.ย. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากน้ำฝนในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้งนี้