วันที่ 9 ก.ค. สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องขอให้พิจารณาทบทวนมติการให้ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ 'ธนินท์ เจียรวนนท์' ประจำปีการศึกษา 2563
สโมสรนิสิตจุฬาฯ ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติมอบปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2563 แก่ ธนินท์ เจียรวนนท์ ตามที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้เสนอ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการเสนอและพิจารณามอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (honorary degree) แก่บุคคลต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นวงกว้าง
นายกสโมสรนิสิตและกรรมการกลางบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า การมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับบุคคลต่าง ๆ นั้น จะต้องคำนึงถึงข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พ.ศ. 2555
กล่าวคือ จะต้องเป็นไปเพื่อยกย่องบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและมีคุณธรรม ซึ่งได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการ เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของนายธนินท์ เจียรวนนท์ เห็นว่า ถึงแม้ประสบความสำเร็จด้านการประกอบธุรกิจในระดับประเทศและต่างประเทศ แต่ยังเป็นที่กังขาว่านายธนินท์ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมโดยยึดอยู่บนความเป็นธรรมทางสังคมหรือไม่
โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากวิกฤติการณ์ขาดแคลนวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดนี้ เนื่องจาก บริษัทซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทเครือซีพีของนายธนินท์ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอล ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นจำนวนกว่า 515 ล้านเหรียญ หรือร้อยละ 15.03 ของซิโนแวคไลฟ์ไซเอนส์ ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทซิโนแวคอีกที ไม่เพียงถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องเท่านั้น นายธนินท์ยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้ก่อตั้งบริษัทซิโนไบโอฟาร์มาซูติคอล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเดียวกับบริษัทซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ปอีกด้วย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กอปรกับสถานการณ์การนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเข้าสู่ประเทศไทย มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำเข้าจากบริษัทซิโนแวคว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศและเป็นการผูกขาดวัคซีนอีกด้วย เป็นที่มาของข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสของการนำเข้าวัคซีน อันมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับและภาคส่วน อีกทั้งกิจการธุรกิจในเครือทั้งหมดของนายธนินท์เป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงเกษตรกรรายย่อย พนักงานภาคบริการ และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้คนส่วนมากของประเทศ
การมอบปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่นายธนินท์ เจียรวนันท์ โดยไม่พิจารณาสภาพการณ์ดังกล่าว จึงอาจยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ตามข้อบังคับข้างต้น
ในการนี้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดให้ท่านชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับมติการให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในครั้งนี้ และขอได้โปรดพิจารณาทบทวนมติการให้ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่บุคคลดังกล่าว เพื่อยืนยันความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และยืนหยัดเคียงข้างผลประโยชน์ของประชาชน