เมื่อสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ขีดเส้นตายว่าจะรื้อถอน 'ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง' ในซอยจุฬาฯ 30 และจะย้ายเจ้าแม่ทับทิมไปยัง 'ที่ประทับใหม่' บริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ภายในเดือน มิ.ย. 2563 ก็ต้องเจอกับเสียงคัดค้านอย่างหนัก ทั้งจากกลุ่มนิสิตและประชาชนที่ผูกพันเกี่ยวโยงกับศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ
กรณีดังกล่าวทำให้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ตัดสินใจ 'ชะลอ' การรื้อถอนศาลเจ้าชั่วคราว และเรื่องเงียบหายไปราว 1 เดือนเศษ ก่อนจะกลายเป็นประเด็นอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้เผยแพร่ภาพป้ายประกาศ ซึ่งระบุว่าเป็นของ PMCU แจ้งว่า 'เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง' จะถูกย้าย และสามารถตามไปสักการะเจ้าแม่ทับทิม ณ ที่ประทับแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.เป็นต้นไป
'รศ.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์' ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเคยออกมาพูดถึงความสำคัญของ 'ศาลเจ้า' ต่อชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ได้เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า การต่อสู้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ชาวจีนโพ้นทะเลของคนรุ่นใหม่ 'แตกต่าง' จากคนรุ่นพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก
คนไทยเชื้อสายจีน 'รุ่นใหญ่' ที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็นมักไม่นิยมการต่อสู้เคลื่อนไหว แต่จะใช้วิธีเจรจาผ่านเครือข่าย 'คอนเน็กชัน' และขับเคลื่อนด้วย 'ค่าน้ำร้อนน้ำชา' ทั้งยังมองว่าคนรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในชุมชน 'ก้าวร้าว' และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล ชุมชน และผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง
เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนว่าชุมชนจีนโพ้นทะเลเลือกจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ในไทยมาโดยตลอด และประวัติศาสตร์บางตอนก็ถูกมองว่าเป็น 'รอยด่าง' ด้านความสัมพันธ์ 'ไทย-จีน' ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง
รศ.วาสนา บอกเล่าว่า วงเสวนาเรื่องความสำคัญของศาลเจ้าต่อชาวจีนโพ้นทะเล จัดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. หรือเพียงไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดการเดิมที่ PMCU ระบุว่าจะรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม โดย PMCU ยืนยันว่าสัญญาเช่าที่ดินระยะยาวได้หมดอายุลงตั้งแต่ปี 2558
วงเสวนาครั้งนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนและนิสิตนักศึกษา ซึ่งต้องการให้อนุรักษ์ศาลเจ้าเอาไว้ มีการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์ ล่ารายชื่อผู้คัดค้านการรื้อถอน เพื่อนำไปแสดงต่อ PMCU ผู้มีอำนาจในการจัดการที่ดิน ณ ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รศ.วาสนาระบุว่ามี 'ผู้หลักผู้ใหญ่' อายุประมาณ 70 ปี โทรมาแสดงความเห็นเพิ่มเติม โดยเสนอให้ รศ.วาสนา จัดให้เขาไปคุยกับผู้บริหารจุฬาฯ เพราะเชื่อว่า 'ถ้าคุยกันดีๆ กับผู้บริหารจุฬาฯ' ก็จะสามารถทำความเข้าใจกันได้ว่าไม่ควรทุบศาลเจ้าแม่
ผู้ใหญ่คนดังกล่าวยังบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนิสิตที่ใช้ความก้าวร้าวรุนแรงเพื่อรักษาศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเอาไว้
"เราก็งงกับเขามาก เพราะระหว่างที่เขาพูดกับเรา เขาก็บอกว่ารู้จักผู้บริหารคนนั้นคนนี้ เราก็ อ้าว ก็รู้จักแล้วทำไมไม่ไปคุย เขาตอบว่า ก็คุย ก็ถามเขาแล้ว เขาไม่สะดวกใจ คิดว่าอาจารย์น่าจะสามารถคอนเน็กต์ให้กับผู้บริหารที่คุยได้จริงๆ ซึ่งเราก็บอกว่าไม่ได้หรอก ผู้บริหารเขาก็ไม่ได้ปลื้มเราหรอก"
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่คนดังกล่าวยังตั้งคำถามว่าการเคลื่อนไหวของนิสิต "จำเป็นต้องทำในขณะนี้หรือไม่" และเหตุใดจึงไม่คุยกันดีๆ ทำให้ รศ.วาสนาเท้าความว่า การรณรงค์ติดแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ในทวิตเตอร์ เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ก่อนจะถึงวันจันทร์ที่เป็นกำหนดทุบศาลเจ้า ซึ่งถือว่าเป็น 'วินาทีสุดท้าย' และถ้าไม่ออกมาเคลื่อนไหวทันที ศาลเจ้าก็อาจจะถูกทุบหายไปแล้วก็ได้
"คุยกับบางคนที่เขามานั่งฟัง (วงเสวนา) วันนั้น เขาว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ของเขา ก็เคยอยู่ในชุมชนนั้นแล้วโดนไล่รื้อไปแล้ว บางคนอยู่ในชุมชนที่ห่างออกไป แต่ก็นับถือศาลเจ้าแม่ทับทิม มาบูชาเป็นประจำเหมือนกัน"
"แต่พวกพ่อแม่ผู้ใหญ่รุ่นนั้นไม่มีทางที่จะมาประท้วงนะ เขาพูดว่า สู้ไปก็ไม่มีทางชนะ"
"จริงๆ ก็ว่าเขาไม่ได้หรอก เพราะเขาก็เติบโตมาผ่านยุคที่เขาเห็นว่าสู้ไปก็ไม่มีทางชนะมาหลายครั้งมาก"
รศ.วาสนาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในยุคหนึ่ง ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีน ถูกปฏิบัติอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และหลายครั้งเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ
ยกตัวอย่างย้อนหลังไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น ผู้ที่ถือใบต่างด้าวอยู่และยังไม่ได้สัญชาติ มักถูกตรวจสอบและขู่ว่าจะโดนเนรเทศกลับจีน ทำให้มองได้ว่านี่อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลและลูกหลานที่เติบโตมาในยุคนั้นไม่ต้องการที่จะขัดแย้งหรือต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐไทย
"ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็ช่วงสงครามเย็นที่มันแรงๆ ก็มีคนถูกเนรเทศเยอะเหมือนกัน มันก็ลำบาก แต่อีกส่วนนึงก็คือพวกนายทุนหรืออะไรอย่างนี้ เขาก็รู้ว่า ถ้าเขาขัดแย้งกับรัฐบาล เขาก็ทำมาหากินลำบาก เขาก็ไม่เอาดีกว่า"
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ รศ.วาสนาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ทั้งยังมีผลงานวิชาการว่าด้วยรัฐไทยและผู้มีเชื้อสายจีนในไทยยุค 'สงครามเย็น' (From Yaowaraj to Plabplachai: The Thai State and Ethnic Chinese in Thailand during the Cold War) พบว่าสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคมในอดีตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนจีนโพ้นทะเลผนวกรวมเข้ากับระบบอุปถัมภ์ของไทย
วิธีคิดดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์สำคัญในย่านจีนของกรุงเทพมหานครถูกลบไปจากประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงวันที่ 3-8 ก.ค. 2517 และทางการไทยเรียกว่า 'การจลาจลพลับพลาไชย'
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ เกิดจาก 'พูน ล่ำลือประเสริฐ' คนขับแท็กซี่เชื้อสายจีนคนหนึ่ง ถูกตำรวจจับกุม พร้อมระบุข้อหาว่าจอดรถในที่ห้ามจอด แต่ระหว่างทางที่จะนำตัวไปสถานีตำรวจ เขาร้องตะโกนว่า "ตำรวจทำร้ายประชาชน" ทำให้คนที่เห็นเหตุการณ์รวมตัวกันประท้วงและล้อมสถานีตำรวจพลับพลาไชย
การรวมตัวประท้วงลุกลามเป็นการปะทะ เพราะตำรวจยิงปืนใส่ประชาชน จึงมีการใช้กำลังเข้าตอบโต้ สถานการณ์ตึงเครียดหลายวันจนรัฐบาล 'สัญญา ธรรมศักดิ์' ถึงกับต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 27 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อย
แม้ว่าเหตุการณ์ที่พลับพลาไชยจะเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ไม่ถึงหนึ่งปี แต่ก็ไม่ได้ถูกรวมเข้ากับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่รวมตัวต่อต้านการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของรัฐในยุคนั้น
"เหตุการณ์ที่พลับพลาไชยมันจบไปเร็วมาก แล้วมันก็ถูกกลบไปเร็วมาก จนเราก็ไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วอุดมการณ์ของมันคืออะไร แล้วที่สำคัญมากที่สุดจริงๆ ก็คือว่าผู้มีอิทธิพลในชุมชนนั้นเอง คนเชื้อสายจีนที่รวยๆ เองก็ไม่ต้องการจะจำมัน... มองว่าอันนี้มันเป็นความด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของคนเชื้อสายจีนกับรัฐไทย"
"กลุ่มคนที่ออกมาประท้วง... เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นคนชั้นกรรมาชีพ เป็นคนที่ทำงานอยู่ในไชน่าทาวน์นั่นแหละ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีการศึกษามาก บางส่วนก็ต้องยอมรับว่ามีนักเลง มีแว้นสมัยนั้นจริงๆ แหละ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เหตุการณ์ที่พลับพลาไชยไม่ได้รับการผนวกเข้าไปในความทรงจำของขบวนการนักศึกษา"
จากการไปสืบค้นเอกสารราชการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พลับพลาไชยเพิ่มเติม รศ.วาสนาพบ ทางการไทยสรุปสำนวนว่า ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พลับพลาไชยเป็น 'อาชญากร' ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง มีประชาชนที่ถูกลูกหลงเสียชีวิตเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็น 'กุมารจีน' ซึ่งรัฐไทยและสื่อไทยที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม-อนุรักษนิยมในขณะนั้นใช้เรียกขานชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีนัยแฝงที่ทำให้รู้สึกถึง 'ความเป็นอื่น' ที่ไม่เข้ากับ 'ความเป็นไทย'
ผู้ที่ถูกกลุ่มคนในเครื่องแบบทำร้ายร่างกาย คือ 'ไพศาล ศรีจรัสจรรยา' บรรณาธิการกะดึกของหนังสือพิมพ์ 'บางกอกโพสต์' ซึ่งลงไปสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ และ รศ.วาสนาได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าตัวในสมัยที่ไปสัมภาษณ์ประกอบงานวิชาการ พบว่าเขาต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง 3 เดือนหลังเกิดเหตุ
"การจลาจลที่พลับพลาไชยมีคนตายเยอะมาก แล้วคนเหล่านั้นก็ไม่เคยได้รับความยุติธรรม ชุดคำอธิบาย (narrative) ของรัฐบาลที่สรุปไป บอกว่าคนที่ออกมาประท้วงเป็นพวก 'ตี๋เพ้ง' เป็นแก๊งอินทรี แก๊งมังกร มันทำให้คนที่ตาย อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นอาชญากรไป"
"คนที่เสียชีวิตไม่ใช่เฉพาะคนที่ออกมาประท้วง หรือที่เขาเรียกว่าผู้ก่อจลาจล แต่มีเด็กผู้หญิงคนนึงออกมาตากผ้าที่ระเบียงชั้นสองของบ้าน แล้วก็โดนกระสุน โดนลูกหลง เสียชีวิตเหมือนกัน"
"บก.ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็ถูกกระทืบหนักมาก เกือบจะตาบอด คือต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3 เดือนหลังจากนั้น ดังนั้นมันมีความรุนแรงมาก แล้วความรุนแรงไม่ได้เกิดกับคนที่รัฐเรียกว่าผู้มาก่อจลาจลด้วย มันเป็นความรุนแรงกับคนอื่นด้วย"
"ดังนั้นคนเชื้อสายจีนรุ่นก่อนหน้านี้เขาจะมีความรู้สึกว่า พูดกันดีๆ มั้ย เวลามีประเด็นปัญหาเหล่านี้ออกมาก็จะได้ยินเขาพูดว่า เขาก็มีคอนเน็กชัน รู้จักกับผู้บริหาร รู้จักกับคนใหญ่คนโต คนนั้นคนนี้ เรายกหูคุยกันได้ นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์พลับพลาไชย ซึ่งมันไม่ได้รับความเป็นธรรม มันไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ตายเปล่าเลยตอนนั้น ก็เลยทำให้คนเจเนอเรชันหนึ่งมีทัศนคติอย่างนี้"
รศ.วาสนาบอกเล่าเพิ่มเติมว่า การค้นคว้าเรื่องเหตุการณ์ที่พลับพลาไชยจากการสัมภาษณ์คนที่เคยอยู่ในชุมชน ไม่ได้รับข้อมูลมากนัก และค่อนข้างยากลำบาก เพราะผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ไม่อยากพูดถึง หรือไม่ก็บอกว่า "จำไม่ได้"
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นมาจากการสืบค้นรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในยุคนั้น โดยเปรียบเทียบกันระหว่างสื่อในไทยกับสื่อจากต่างประเทศ ช่วยให้เห็นบรรยากาศและชุดความคิดของสังคมไทยในยุคนั้นรอบด้านมากกว่า
รศ.วาสนาชี้ว่า เหตุการณ์ที่พลับพลาไชยเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และกำลังจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) ทำให้ทางการไทยต้องมีเอกสารชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศก็เกาะติดรายงานเหตุการณ์ที่พลับพลาไชยอย่างละเอียด เช่น สื่อสิงคโปร์อย่าง Straits Time และ South China Morning Post สื่อฮ่องกง
ส่วนสื่อไทยที่รายงานข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ เนชั่นและบางกอกโพสต์ รายงานทั้งภาพและเหตุการณ์อย่างละเอียด ขณะที่สื่อภาคภาษาไทยมีคำอธิบายเหตุการณ์โดยใช้ถ้อยคำที่เห็นได้ชัดว่าเหยียดเชื้อชาติ
"เนชั่น บางกอกโพสต์นี่ข่าวเยอะมาก แล้วก็ให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงสิ่งที่ไปปรากฏอยู่ในสเตรทไทม์ส หรือไชน่ามอร์นิงโพสต์...หนังสือพิมพ์จีนก็ให้ข้อมูลละเอียดมากเหมือนกัน แต่ว่าถ้าไปดูไทยรัฐ เดลินิวส์ คือข้อมูลจำกัดมาก แล้วก็มีบทความชนิดที่ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงเยอะมาก"
"ถ้าเกิดว่าคนไปอ่านไทยรัฐ เดลินิวส์ช่วงพลับพลาไชยในปี 2517 จะไม่แปลกใจเลยว่าเกิด 6 ตุลาฯ 2519 ก็จะมีคนออกมาบอกแนวว่า พวกนี้มันเป็นกุมารจีน อั้งยี่ มันอะไรต่อมิอะไร มันอยากให้ประเทศไทยแพ้สงครามและจีนมายึดครอง มันไม่รักชาติ อะไรอย่างนี้ มี narrative ออกมาแบบ racist ชัดเจนมาก"
"อีก narrative นึงที่บอกว่า ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะว่า เดี๋ยวนี้นักศึกษามันเรียกร้องเปรอะไปหมด คนก็เลยมีอะไรนิดอะไรหน่อยก็ออกมาทำความรุนแรง มันก็เป็นเทรนด์ที่สืบเนื่องมาจาก 14 ตุลาฯ แล้วตอนนี้ไอ้พวกลูกเจ๊กก็ทำบ้าง มันมี narrative ที่แสดงความไม่พอใจกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาออกมาอย่างชัดเจนในบทความหนังสือพิมพ์พวกนี้"
ด้วยเหตุนี้ รศ.วาสนามองว่า เอกสารของรัฐบาลหรือหนังสือพิมพ์ที่บอกว่าผู้ก่อเหตุการณ์รุนแรงที่พลับพลาไชยเป็น 'ผู้ก่อจลาจล' ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียหายและผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับความเป็นธรรม
ส่วนบทสรุปของเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางการไทยกล่าวว่า ผู้นำการก่อเหตุ คือ 'สุธรรม กัววิกภัย' หรือ 'ตี๋เพ้ง' ที่มีการบรรยายว่า "เพิ่งออกจากคุกมาหมาดๆ" และต้องการแก้แค้นตำรวจที่จับกุมตนเอง
"คำอธิบายของรัฐบาลคือว่า การจลาจลนี่มันเกิดจากอาชญากรทั้งหลายที่เกลียดชังตำรวจ ที่มาขัดขวางการกระทำอันเป็นอาชญากรรมทั้งหลาย ดังนั้น แกนนำของคนที่ก่อให้เกิดการจลาจลที่พลับพลาไชย เป็น 'แก๊งมังกร' กับ 'แก๊งอินทรี' ซึ่งเป็นแก๊งอั้งยี่"
"อีตาสุธรรม อีตาตี๋เพ้งนี่ ก็ถูกถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์ บอกว่านี่แหละ อีตาคนนี้แหละทำให้เกิดขึ้น แล้วเขาชื่อจริงชื่อ.. สุธรรม กัววิกภัย ซึ่งไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร"
"ที่หนังสือพิมพ์เล่าให้ฟัง คือบอกว่า เขาถอดเสื้อ แล้วก็กระโดดขึ้นไปยืนบนหลังคารถ แล้วบอกว่า เนี่ย ชั้นเพิ่งออกมาจากคุกบางขวางนะ ชั้นจะมาเอาคืนตำรวจที่จับชั้นเข้าคุก! แล้วสุธรรมนี่ก็มีสลักเสือเผ่นอยู่กลางอก แล้วก็มีมีดสปาร์ตาอยู่ตรงพุง แล้วก็มีมังกรพันแขน ก็จับสุธรรมนี้มา แล้วก็..จบเรื่อง"
เหตุการณ์ที่พลับพลาไชยไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน นั่นก็คือไม่มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตหรือสูญหายไปในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกบันทึกผ่านสื่อต่างประเทศ คือ แถลงการณ์ของคนในชุมชนจีนโพ้นทะเลในไทย ซึ่งอยู่รายล้อมและเคียงข้างที่เกิดเหตุ 'จลาจลพลับพลาไชย' โดยกลุ่มพ่อค้าและบุคคลสำคัญในชุมชนพร้อมใจยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าว อย่าต่อสู้อีกเลย
รศ.วาสนากล่าวว่า แถลงการณ์ของ 'ผู้หลักผู้ใหญ่' ในชุมชน มีชุดคำอธิบายทำนองว่า "สู้ไปยังไงก็แพ้" ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และดูจะเป็นภาพสะท้อนของคนในชุมชนจีนโพ้นทะเลที่ต้องการผนวกรวมกับอำนาจในระบบอุปถัมภ์ได้เป็นอย่างดี
"คนที่จะร่ำรวยมั่งมีมหาศาลในประเทศนี้ได้ในยุคสงครามเย็น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคุณจะต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ คุณจะต้องมีคอนเน็กชันที่ดีกับรัฐ คุณต้องสนับสนุนรัฐเพื่อประโยชน์ทางการค้า"
"ดังนั้น...เขาเลือกที่จะเข้ากับระบบอุปถัมภ์ดีกว่า ตั้งใจขยันทำมาหากิน ให้ค่าน้ำร้อนน้ำชากับผู้หลักผู้ใหญ่ที่จำเป็นต้องให้ แล้วเมื่อร่ำรวยขึ้นมาได้ก็ใช้เงินของตัวเองไปอุปถัมภ์อำนาจทางการเมือง เพื่อที่อำนาจทางการเมืองจะได้มาอุปถัมภ์ธุรกิจของตัวเอง อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเป็นปกติมาก"
"การเอานายพลมานั่งอยู่ในบอร์ดบริษัท เป็นที่ปรึกษา โดยที่จริงๆ ก็ไม่รู้ทำอะไรหรือเปล่า คือมีหน้าที่อยู่ตรงนั้นเพื่อไม่ให้บริษัทชั้นโดนไถ อย่างนี้คือการรักษาความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมือง มันเป็นประโยชน์เจริญรุ่งเรืองกับทางธุรกิจมากกว่า"
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบกับความเคลื่อนไหวของเยาวชนเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มนิสิตที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดว่ามีวิธีคิดและวิธีการที่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย และทำให้เยาวชนรุ่นใหม่เหล่านี้ถูกมองว่า 'ก้าวร้าว'
"คนรุ่นใหม่ก็โตมาในยุคที่พ่อแม่ก็ทำมาจนรวยแล้ว ไม่ต้องไปอยู่ในสถานการณ์ของการถูกรีดไถ ถูกดูถูกดูแคลนอะไรต่างๆ นานา แล้วคนรุ่นใหม่ก็เป็นอินเทอร์เน็ตเจเนอเรชัน ตามข้อมูลข่าวสารอะไรต่างๆ ก็เห็นว่าในประเทศอื่นๆ ในโลกเขาเป็นอย่างไรกันบ้างแล้ว เขาก็ต้องการจะเรียกร้องให้มันมีสังคมที่ดีขึ้น"
"เขาไม่เห็นว่าแนวทางของคนรุ่นเก่ามันจะทำให้อะไรมันดีขึ้น...แต่เราก็เข้าใจได้ว่า ทำไมคนรุ่นเก่าถึงคิดอย่างนั้น และคนรุ่นใหม่ถึงจะคิดไม่เหมือนกัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: