ไม่พบผลการค้นหา
'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' เปิดร่างแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. เปิดทางทวงคืนความยุติธรรมเหยื่อสลายการชุมนุมปี 53

วันที่ 19 พ.ค. 2566 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนปี 2553 ระบุว่า 19 พฤษภาคม 66 ครบรอบ 13 ปี การยุติการชุมนุม ที่มีประชาชนเสียชีวิตมากที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สลายการชุมนุมเวลากลางคืน ปืนติดลำกล้องยิงจากระยะไกล ประกาศเขตกระสุนจริง ยิงคนมือเปล่าหน้าวัดเขตอภัยทาน คือปฏิบัติการโดยรัฐ ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก

ทุกปีมีกิจกรรมรำลึก และตลอดมามีการติดตามทวงถามความยุติธรรมให้คนเจ็บคนตาย

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากการเลือกตั้งหลังโศกนาฏกรรม ดำเนินการเรื่องสำคัญไว้ 4 ประการ

1.มีมติ ครม.จ่ายเงินเยียวยา ผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จากการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองให้ทุกฝ่าย ภายใน 7 เดือนหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่

ครม.ชุดดังกล่าวถูกยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ต่อสู้คดีเกือบ 7 ปี ถึงที่สุด ป.ป.ช. ยกคำร้อง

2.ดำเนินคดีผู้สั่งการ ฐานบงการฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล จำเลยสำคัญคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกส่งฟ้องคดีถึงศาล แต่ทั้ง 2 คนร้องแย้ง จนศาลฎีกาวินิจฉัยถึงที่สุด ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ต้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเริ่มต้นที่ ป.ป.ช. ซึ่งต่อมา ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องจำเลยทั้งคู่

อดีตอธิบดีดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำคดีดังกล่าว ถูกนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฟ้อง ม.157 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

3.เห็นชอบให้สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ดำเนินการเรื่องการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง โดยใช้ทั้งหลักประกันจากหน่วยงานรัฐ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยใช้ตำแหน่งประกันตัว

4.ผู้ต้องขังที่ศาลพิพากษาแล้ว หรือไม่อนุญาตให้ประกัน มีการจัดตั้งเรือนจำพิเศษ สำหรับคุมขังผู้ต้องขังคดีการเมือง แยกจากผู้ต้องขังอื่น ต่อมาถูกยกเลิกโดย คสช. หลังรัฐประหาร

คดีความที่แทบถึงทางตัน พายเรือในอ่าง และหยุดนิ่งตลอด 9 ปีใต้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ กลับคืนสู่ความหวังที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง หลังการเลือกตั้ง และกำลังจะมีรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย

มีหลายฝ่ายเสนอแนวทาง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผมไม่ขัดข้อง แต่จากการหารือฝ่ายกฎหมาย และทีมนโยบายของพรรคเพื่อไทย เราพบแนวทางที่น่าจะกระชับเวลา ตรงเป้า และถือเอาเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้มีอำนาจ ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ด้วยใจลำพอง ลอยนวลพ้นผิดโดยง่ายได้อีก

ท่ามกลางเงาทะมึนของความขัดแย้ง ซึ่งอาจขยายตัวเป็นวิกฤต ในอนาคตอันใกล้ด้วยการแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ( พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีสาระสำคัญคือ

  1.หากยื่นเรื่องแล้ว ป.ป.ช.ไม่รับพิจารณา ให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้โดยตรงแล้วแต่กรณี

2.กรณี ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วมีมติว่าคดีไม่มีมูลให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณาหากอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีมีมูลความผิดอาญาให้ยื่นฟัองคดีได้ แต่ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีไม่มีมูล ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องคดีได้โดยตรง

ผมเตรียมประสานงาน ส.ส.ที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้แล้ว 30 รายชื่อ จะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้เสนอร่างโดย ครม.ประกบด้วย และขอพลัง ส.ส.ในสภาเสนอเป็นญัตติด่วน ให้เป็นกฎหมายอีก 1 ฉบับ ในแผนงาน 100 วันแรกของรัฐบาล

หากสำเร็จตามนี้ ญาติผู้เสียชีวิต น่าจะเริ่มต้นฟ้องคดี ได้ภายใน 6 เดือน หลังรัฐบาลเริ่มต้นใช้อำนาจบริหาร

ผมนำร่างฉบับที่เตรียมไว้ ลงในคอมเมนต์ด้วย เพื่อผู้รู้ท่านใดมีข้อสังเกต หรือเสนอแนะที่คมชัดรัดกุมกว่า จะนำมาปรับปรุงบรรจุลงในร่างแก้ไขในทันที