ไม่พบผลการค้นหา
'รวมไทยสร้างชาติ' ถกวิปรัฐบาล ก่อนเคาะเสนอร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือไม่ มองกฎหมายนิรโทษกรรมยังไม่เร่งด่วนเท่า พ.ร.บ.งบประมาณฯ

วันที่ 18 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยระบุว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่จะสร้างเสริมให้สังคมไทยมีความสมัครสมานสามัคคี โดยจะเว้นโทษทางการเมืองให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่จะไม่งดเว้นให้กับกลุ่มผู้ที่ละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องการทำร้ายร่างกายจนทำให้ถึงเสียชีวิต และไม่งดเว้นโทษในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ

โดยขณะนี้จะมีการหารือกันในวิปรัฐบาลว่า จะมีการนำเสนอเมื่อไหร่ และต้องมีการหารือกับพรรคอื่นว่า จะมีการเสนอร่างประกบหรือไม่ เพราะคิดว่าร่างกฎหมายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งสามารถรวมพิจารณาเป็น พ.ร.บ.เดียวกันได้

เมื่อถามว่า หากมีร่างกฏหมายของรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวแยก หรือรวม อัครเดช กล่าวว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความต้องการที่จะเสนอร่างดังกล่าวในนามของพรรค ซึ่งจะต้องมีการหารือกันในวิปรัฐบาลก่อน และขณะนี้เรายังไม่ทราบว่า มีพรรคใดบ้างที่จะเสนอร่างกฏหมายที่มีลักษณะคล้ายกัน ฝ่ายรัฐบาลเห็นมีแค่ทางพรรคเพื่อไทย ส่วนฝ่ายค้านก็มีพรรคก้าวไกล พรรคอื่นๆ คงต้องรอฟัง และพิจารณาร่วมกันในวิปอีกครั้ง

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมองว่า การเสนอร่างกฎหมายอาจจะช้าไป จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พรรครวมไทยสร้างชาติมองอย่างไร อัครเดช ระบุว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ เราจะมาหารือกันในวิปรัฐบาลเพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าว แต่การตั้ง กมธ.ขึ้นมา เพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวให้ตกผลึก เป็นเรื่องดี ที่จะได้มีการหารือกันก่อนจะนำเข้าสู่สภาฯ นำความเห็นของแต่ละพรรคมาถกก่อนที่จะนำเสนอร่างกฏหมายรวมกัน 

"ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลได้ข้อสรุปร่วมกัน ก็อาจจะเสนอเป็นร่างเดียวกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการออกกฏหมาย ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และไม่ให้เกิดการโต้แย้งกันในสภาฯ" อัครเดช กล่าว

อัครเดช ยังเผยว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ จะยังไม่ยื่นร่างกฏหมายดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปจากพรรคร่วมรัฐบาลทางหัวหน้าพรรคได้เตรียมความพร้อมในด้านกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ส่วนขั้นตอนการเสนอต้องรอความพร้อมของวิปรัฐบาล เพราะเมื่อเข้าสู่ชั้นการพิจารณา ก็จะเป็นไปตามระเบียบวาระของสภาฯ หากมีพรรคการเมืองใดที่เสนอคล้ายกันประธานสภาฯ สามารถรวมการพิจารณาได้

เมื่อถามว่า เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ เป็นเนื้อหาเดียวกันกับของ นพ.ระวี มาศฉมาดล อดีต สส.พรรคพลังธรรมใหม่ ที่เคยยื่นเข้าสภาฯ ในสมัยที่แล้วใช่หรือไม่ อัครเดช กล่าวว่า ตนไม่ทราบที่มาในส่วนของผู้ริเริ่ม และนำมาเสนอ เพราะทางฝ่ายกฎหมายของพรรคเป็นผู้ดำเนินการ ตนในฐานะวิปรัฐบาลมีหน้าที่นำกฎหมายมาหารือในชั้นวิปรัฐบาล ฉะนั้น ตนจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการประสานงาน แต่ในส่วนการร่างรวมถึงที่มาที่ไปเป็นการดำเนินการของพรรคและฝ่ายกฎหมาย

เมื่อถามว่า จะต้องมีการกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมฯ หรือไม่ อัครเดช กล่าวว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่ยังไม่เร่งด่วนเท่าไหร่ ส่วนที่ต้องเร่งดำเนินการคือเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

"ขณะนี้ หน่วยราชการและประชาชนกำลังรอเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความฝืดเคือง ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรมคงต้องเรียงลำดับเข้าพิจารณา" อัครเดช กล่าว