ไม่พบผลการค้นหา
'มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์' ร่วมกับภาคี เปิด 'โรงเรียนอนาคต' สร้างเยาวชนเป็นผู้นำขับเคลื่อนสังคมยุคใหม่

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จับมือภาคีเครือข่ายด้านการเรียนรู้ ประกอบไปด้วยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด

เปิดตัว "โรงเรียนอนาคต" เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านการเรียนรู้หลายรูปแบบ

โดยรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแรงและเร็ว ทุกส่วนของโลกเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ยาก สังคมไทยจะก้าวต่อไปอย่างประสบความสำเร็จในสังคมโลกได้ ก็ต้องมีผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมจัดการกับโลกแห่งความไม่แน่นอนในอนาคต และนี่จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะ "สร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้สังคมไทยและนานาชาติ" และตั้งเป้าหมายในการปลูกฝังบัณฑิตของ มธ. ให้มีคุณลักษณะ 6 ข้อ ที่เหมาะกับการเป็น "ผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21" หรือ GREATS 

อันประกอบไปด้วย

  • รู้เท่าทันโลกและสังคม (Global Mindset)
  • มีความรับผิดชอบ (Responsibility)
  • สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง (Eloquence)
  • มีสุนทรียะในจิตใจ (Aesthetic Appreciation)
  • เป็นผู้นำทีม (Team Leader)
  • มีจิตวิญญาณเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม (Spirit of Thammasat) 


"โครงการโรงเรียนอนาคต จะทำหน้าที่เสมือนแปลงต้นกล้าที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้นำรุ่นใหม่ในตัวของเยาวชน ผ่านประสบการณ์เรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และปลูกฝังวิธีคิดที่จะติดตัวเขาเหล่านั้นไปในอนาคต"


'โลกอนาคต' อยู่ในมือ 'คนรุ่นใหม่'

ด้านรศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า เราต้องฝากโลกอนาคตไว้ในมือของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มักเรียกกันว่า Gen Z และ Gen Alpha คนเจเนอเรชันใหม่เหล่านี้มีวิธีคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนในรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็สอดรับไปกับสังคมโลกที่ถูกขับคลื่อนไปในรูปแบบที่โอกาสมีไม่จำกัด ในขณะที่สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดังนั้นสิ่งที่มีอยู่ก็พร้อมที่จะล้าหลังและพ้นสมัยไปตลอดเวลาเช่นกัน คำถามคือเราจะเตรียมคนให้พร้อม สำหรับโลกใหม่ในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก��ยังไม่ชัดเจนว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร สิ่งที่แน่นอนก็คือ การสร้างคนเพื่อรับมือกับโลกอนาคตไม่อาจใช้วิธีการเดิมๆ ได้อีกต่อไป ความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด ทักษะสำคัญกว่าเนื้อหา

"3 ทักษะสำคัญคือ “คิด วิเคราะห์ ค้น” คือสิ่งที่เราต้องปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของ DNA คนรุ่นใหม่ เพราะถ้ามี 3 ทักษะนี้ เขาเหล่านั้นจะสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเจอได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ" รศ.ดร.พิภพ กล่าว

เปิดมุมความคิดเชื่อมโลกอนาคต

ขณะที่ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิวันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และบรรณาธิการบริหารสื่อความรู้สร้างสรรค์ บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด กล่าวว่า เสน่ห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจของ “โรงเรียนอนาคต” คือ 

1) ความหลากหลายของนักเรียนที่เข้าร่วม ที่มีทั้งนักเรียนมัธยม และนักศึกษา จากหลายคณะ มาเรียนรู้ เรียน กิน นอนร่วมกันกันสองสัปดาห์เต็ม ซึ่งจะเป็นการเปิดโลกและเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ข้ามความสนใจของนักเรียนได้อย่างกว้างขวาง 

2) กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายมาก ทั้งเรียนวิชาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับนักวิชาการชั้นนำ ฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติการจริงกับตัวจริงในวงการต่างๆ ทั้งนักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ นักแสดง นักพูด นักเคลื่อนไหวทางสังคม เปิดวงเสวนาเรื่องอนาคตของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย กับตัวละครสำคัญในวงการต่างๆ ของประเทศ

ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ เดินทางเพื่อเรียนรู้ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเรื่องสตาร์ทอัพและนวัตกรรมทางธุรกิจ รวมถึงการตั้งวงสนทนาแบบไม่เป็นทางการหลังอาหารเย็นกับวิทยากรที่จะมาสร้างแรงบันดาลใจทางความคิด ทั้งหมดนี้ภายใต้การอำนวยการเรียนรู้ของวิทยากรกระบวนการมืออาชีพ 

พื้นที่ 'เสรีทางความคิด' รับมุมมองใหม่

ขณะที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “โรงเรียนอนาคต” ออกแบบมาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกและสังคมไทยในปัจจุบัน โรงเรียนนี้เชื่อมโยงร้อยรัดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน เห็นที่มาที่ไป เข้าใจสภาวะที่ดำรงอยู่ และร่วมกันสำรวจหนทางใหม่ๆ สำหรับอนาคต ผ่านแง่มุมความรู้และทักษะที่หลากหลาย ตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ ภาพยนตร์ สารคดี การเขียนเชิงสร้างสรรค์


"ที่สำคัญห้องเรียนนี้มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเสรี กระตุกและกระตุ้นความคิดมุมมองใหม่ๆ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อสรรค์สร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า" ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าว