ไม่พบผลการค้นหา
สนช. นัดโหวตร่างแก้ไขกฎหมายระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม ในวาระ 2-3 เปิดทางให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมคลอดระเบียบเบี้ยประชุมข้าราชการตุลาการ ด้านนักวิชาการนิติศาสตร์ ชี้เพิ่มภาระการคลังปีละ 207 ล้านบาท จี้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าว - แนะ สนช.โหวตคว่ำ

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 22 พ.ย.นี้ มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม(ฉบับที่...)พ.ศ... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 -3 โดย กมธ.ไม่มีการสงวนความเห็น และสมาชิกสนช.ไม่มีการเสนอคำแปรญญัติหรือไม่มีการแก้ไข

โดยสาระสำคัญยังให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมของข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ พร้อมกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรับรอง ระเบียบคณะบริหารราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่และการประชุมแผนกคดีอาญาในศาลฎีกาและศาลชั้นอุทธรณ์ พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ออกครั้งแรกในเดือนต.ค. 2560 และแก้ไขเมื่อเดือนก.พ.61 ให้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะออกระเบียบตามร่างกฎหมายฉบับนี้ 

ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ "เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น จึงเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจะมีการพิพากษาเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แกประชาชนอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม"

ด้านประมาณการรายจ่ายเบี้ยประชุม ดังนี้ ประธานได้รับเบี้ยประชุม 10,000 บาท องค์ประชุมคนละ 8,000 บาท เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการคนละ 6,000 บาท ผู้เข้าร่วมประชุมคนละ 6,000 บาท ใน 12 หน่วยงานศาลคือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ที่จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง รวมปีละ 24 ครั้ง ประมาณการรายจ่ายราย 12 ปี ศาลต่อปีอยู่ที่ 207,360,000 บาท คาดว่า 5 ปีแรกต้องใช้งบประมาณแตะ 1,100 ล้านบาท

ขณะที่ นายอานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดภาระทางการคลังของประเทศเพิ่มขึ้นปีละ 207 ล้านบาท การอ้างเหตุผลว่าให้แจกเบี้ยประชุมได้ เพื่อความรอบคอบในความยุติธรรม ก่อให้เกิดคำถาม คือ ถ้าไม่มีเบี้ยประชุม ผู้พิพากษาจะไม่รอบคอบใช่หรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาตลอดของกระบวนการยุติธรรมในศาลไทย เหตุใดศาลจึงสามารถยังอำนวยความยุติธรรมได้เสมอมาแม้ไม่มีการแจกเบี้ยประชุมใหญ่ของศาล

นายอานนท์ ระบุว่า ข้อมูลพื้นฐานที่ควรทราบ คือ ร่างกฎหมายนี้ถูกริเริ่มผลักดันโดยผู้บริหารศาล คือ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ไม่ใช่การริเริ่มโดยรัฐบาล หรือ สนช. ร่างกฎหมายดังกล่าวหากประกาศใช้บังคับ จะทำให้เกิดภาระการคลังมหาศาลขึ้นทุกปีต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชนผู้เสียภาษีอากรแก่รัฐ ความเร่งรีบในการออกกฎหมายฉบับนี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า เหตุใดไม่รอสภาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนตัวจึงวอนขอให้คำนึงภาษีอากรจากประชาชนด้วย และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เข้า สนช. และควรยกเลิกระเบียบนี้ไป ถ้าไม่ยกเลิก ตอนนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าวได้ และยังหวังว่า สนช.จะไม่เห็นชอบกฎหมายนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง