ไม่พบผลการค้นหา
มติ ครม. ด้านเศรษฐกิจ ไฟเขียวตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต ประเดิมธุรกิจร้านอาหาร-ค้าปลีก ปรับเงื่อนไขใช้สิทธิลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง สามารถพักที่พักขนาดเล็ก ไม่เกิน 4 ห้อง พักรวมไม่เกิน 20 คนได้ หนุนผู้ประกอบการรายย่อยเปลี่ยน 'อาคาร' เป็น 'โรงแรม' ทบทวนค่า K โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์บริหารหนี้สาธารณะ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. …. เป็นส่วนราชการ สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับส่งต่อคำขออนุญาตให้แก่หน่วยงานที่มีอำนาจในการขออนุญาตตามกฎหมายครอบคลุม 75 ฉบับ 375 งาน 44 หน่วยงาน เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลรัษฎากร

โดยระยะแรกจะให้บริการในเขตกทม. จำนวน 2 ธุรกิจ ได้แก่ ร้านอาหารและค้าปลีก และภายในสิ้นปี 2561 เพิ่มเติมอีก 7 ธุรกิจ ได้แก่ รีสอร์ตขนาดเล็ก สปา ฟิตเนส ก่อสร้างและรับหมาก่อสร้าง ซ่อมและขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สถานพยายาลสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ร้านกาแฟ และ Co-Working Space ระยะต่อไปจะขยายให้ครอบคลุม 25 กลุ่มธุรกิจ 250 ใบอนุญาต เช่น คาร์แคร์ เสริมความงาม อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว ธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ พลังงานทดแทน แปรรูปสินค้าเกษตรขนาดเล็ก

ทั้งนี้ ให้มีบุคลากร 25 อัตรา งบประมาณระยะแรก 35 ล้านบาท สถานที่ตั้งระยะแรกใน กทม. ใช้สำนักงาน ก.พ. ชั้น 1 ถนนพิษณุโลก ในต่างจังหวัด ขอใช้พื้นที่ของศูนย์ดำรงธรรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ (4 ภาค 8 จังหวัด) ระยะต่อไปจะขยายไปยังต่างจังหวัด ระยะที่สอง อาจจะประสานขอเปิดให้บริการในศูนย์การค้า ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และในระยะยาว อาจตั้งสาขาประจำกระทรวงและตั้งสาขาประจำจังหวัด

ปรับเงื่อนไขใช้สิทธิลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง

ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง 55 จังหวัด ตามร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) 

โดยให้เพิ่มสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวในลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม และต้องแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบ เพราะตามมาตรการเดิมกำหนดให้นักท่องเที่ยวพักได้เฉพาะโรงแรมที่จดทะเบียนตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงทำให้คนเดินทางไปเที่ยวในเมืองรองมีจำนวนน้อย

พร้อมกันนี้ยังปรับเกณฑ์เรื่องของการนำเงินที่จ่ายเป็นค่าบริการให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางไปเที่ยวในเมืองรอง โดยให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้โดยได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับท้องที่ในเขตจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ด้วย ซึ่งเป็นการมอบอำนาจเพิ่มเติมจากเดิมที่การประกาศเส้นทางท่องเที่ยวต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เท่านั้น

ขยายเวลาปรับปรุง 'อาคาร' เป็น 'ธุรกิจโรงแรม' ต่อถึงปี 2564

ด้านพล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ร่างกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในการประกอบธุรกิจโรงแรม 

โดยมีกฎระเบียบเดิมระบุว่าใครที่มีอาคารอยู่แล้ว แต่ต้องการจะเปลี่ยนสภาพเป็นโรงแรม ขอให้ปรับปรุงอาคารให้แล้วเสร็จใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2559 ซึ่งจะหมดกำหนดในปีนี้นั้น แต่เพื่อให้ประชาชนที่สนใจจะประกอบธุรกิจประเภทดังกล่าวเพิ่มเติม จึงมีการขยายเวลาการปรับปรุงอาคารให้เป็น 5 ปี โดยจะครบกำหนดในปี 2564 แทน 

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดบางประการ จากเมื่อก่อนที่กำหนดว่า อาคารที่จะปรับเป็นโรงแรม จะต้องแปรสภาพวัสดุที่ทนไฟในกรณีที่เป็นอาคาร 3 ชั้นขึ้นไป โดยเปลี่ยนเป็นให้อาคาร 4 ขึ้นไปต้องเป็นวัสดุทนไฟ เนื่องจากมีอาคารไม้หลายแห่งที่มี 3 ชั้น แต่ต้องการเปลี่ยนเป็นสภาพโรงแรม โดยมีเพิ่มเงื่อนไขว่าต้องมีอุปกรณ์ดับไฟพร้อม หรือติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณแจ้งเตือนต่างๆ เพื่อแจ้งเตือน เป็นต้น

อนุมัติทบทวนหลักเกณฑ์การใช้ค่า K โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินฯ

พร้อมกันนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 (เรื่อง ขออนุมัติหลักเกณฑ์การคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง K (Price Adjustment) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) และยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2532 (เรื่อง การพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้าง) ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ

โดยเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง K (Price Adjustment) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยในส่วนของงานสัญญาที่ 1-4 ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ส่วนงานสัญญาที่ 5 ให้สามารถนำเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การคำนวณเงินชดเชยค่า K ที่ได้ลงนามผูกพันให้สัญญาแล้วมาใช้ได้เฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างเท่านั้น (งานก่อสร้างพื้นทางคอนกรีตเสริมเหล็กรองรับราง) โดยขอยกเว้นมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2532 เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายดังนี้

1.การคำนวณเงินชดเชยค่า K ที่ใช้กับสัญญาแบบปรับราคาได้ให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินชดเชยค่า K ตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยใช้ดัชนีราคาฐาน (ค่า Ko) 28 วันก่อนวันยื่นซองประกวดราคา สำหรับสัญญาที่ 5 เฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างเท่านั้น (งานก่อสร้างพื้นทางคอนกรีตเสริมเหล็กรองรับราง) เป็นฐานในการคำนวณ สำหรับประเภทงานก่อสร้าง สูตรและวิธีการคำนวณที่ใช้กับสัญญาแบบปรับราคาได้ ให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2532

2.การขอเงินเพิ่มค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องเรียกร้องภายใน 90 วัน โดยสัญญาที่ 5 ให้นับจากวันที่ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนผู้ว่าจ้างออกหนังสือรับรอง Certificate of Completion และในกรณีที่ผู้ว่าจ้างจะต้องเรียกเงินคืนจากผู้รับจ้าง ให้ผู้ว่าจ้างที่เป็นคู่สัญญารีบเรียกเงินคืนจากผู้รับจ้างโดยเร็วและ/หรือหักจากค่าจ้างงานงวดต่อไป หรือหักจากหลักประกันสัญญาแล้วแต่กรณี

3.มอบหมายให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัยการคำนวณเงินเพิ่มหรือลด และจ่ายเงินเพิ่มหรือเรียกคืนจากผู้รับจ้างตามเงื่อนไขของสัญญาแบบปรับราคาได้ตามข้อผูกพันของสัญญาที่ได้ลงนามไปแล้ว และหากการจ่ายเงินเพิ่มค่างานก่อสร้างดังกล่าว ทำให้เกินกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ก็ให้ถือว่าได้รับอนุมัติขยายกรอบวงเงินโครงการจาก ครม.ในครั้งนี้ด้วย ส่วนการจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมเพื่อเบิกจ่ายเงินชดเชยค่า K ให้แก่ผู้รับจ้าง ขอให้ใช้จ่ายจากเงินสำรองจ่าย (Provisional Sum) ของแต่ละสัญญา หรือจ่ายตามแหล่งที่มาของเงินค่าก่อสร้าง หรือที่สำนักงบประมาณวินิจฉัยแล้วแต่กรณี และให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่งต่อไป ทั้งนี้ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคำนวณเงินชดเชยค่า K รวมทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2532 อย่างเคร่งครัด

สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในระยะต่อไปให้กระทรวงคมนาคม (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง K (Price Adjustment) รวมทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2532 (เรื่อง การพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้าง) และมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2559 (เรื่อง การกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ประเภทงานก่อสร้าง สูตรและวิธีการคำนวณที่ใช้กับสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ของการประกวดราคานานาชาติและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2532 กรณีการจ้างเหมาก่อสร้างแบบ Design and Build อย่างเคร่งครัด และหากในกรณีที่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ให้กระทรวงคมนาคม (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนลงนามผูกพันสัญญาต่อไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ

แต่งตั้ง 'ฉัตรชัย ธรรมสวยดี' เป็นบอร์ดบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาล

ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง นายฉัตรชัย ธรรมสวยดี ผู้แทนโรงงาน เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป 

ให้ 'ดีอี' เข้าร่วมคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล OECD

ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบการเข้าร่วมคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Committee on Digital Economy Policy: CDEP) ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี เสนอ และให้กระทรวงดีอีรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ในส่วนของการชำระค่าบำรุงสมาชิกรายปีสำหรับการเข้าร่วม CDEP ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ หากในอนาคตค่าบำรุงสมาชิกรายปีมีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลที่ กระทรวงดีอีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยให้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ รักษาวินัยการเงินการคลัง

ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาต่อไป 

โดยสาระสำคัญของร่างคือ 1. กำหนดกรอบวินัยการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะ โดยการบริหารหนี้สาธารณะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำหนดสัดส่วนเกี่ยวกับการก่อหนี้และการบริหารหนี้ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา  

2. กำหนดการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินภาครัฐส่งแผนความต้องการเงินกู้สำหรับโครงการพัฒนาหรือโครงการที่จะมีผลเป็นการก่อหนี้สาธารณะในระยะ 5 ปีถัดไปให้ สบน. ตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อใช้ในการประมาณการความต้องการการกู้เงินและการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศในระยะปานกลาง (5 ปี) ให้ สศช. วิเคราะห์โครงการพัฒนาที่จะใช้เงินกู้และจัดส่งให้ สบน. เพื่อใช้ในการกำหนดกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ให้ สบน. จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง และจัดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนาที่จะใช้เงินกู้เสนอคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมกับการเสนอแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ และให้พิจารณาทบทวนแผนความต้องการเงินกู้ดังกล่าวทุกปี 

3. กำหนดการดำเนินการตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณแล้ว ให้ สบน. ดำเนินการกู้เงินและบริหารหนี้สาธารณะให้เป็นไปตามหลักวินัยการคลังตามที่กำหนดไว้ในหมวด 1 กรอบวินัยการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะ และสอดคล้องกับกรอบการบริหารหนี้ (Portfolio Benchmark) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ รวมถึงกำกับติดตามให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินภาครัฐปฏิบัติตามข้อผูกพันและกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ 

4. กำหนดการกำกับติดตามและการประเมินผล ให้สำนักงานกำกับ ติดตาม การใช้จ่ายเงินกู้และการบริหารโครงการพัฒนาหรือโครงการ เพื่อรายงานความคืบหน้า ผลการดำเนินงาน การเบิกจ่ายเงินกู้ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา 

5. กำหนดการรายงานผลการบริหารหนี้สาธารณะ ให้ สบน. รายงานสถานะหนี้สาธารณะประจำเดือนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อทราบ และเผยแพร่รายงานดังกล่าวไว้ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของ สบน. ภายในสิ้นเดือนถัดไป ทั้งนี้ เป็นการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549