ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 2561 แตะ 82.2 สูงสุดในรอบ 62 เดือน เหตุประชาชนเชื่อมั่นสถานการณ์ในอนาคต การส่งออก-ท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2561 ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.2 จากระดับ 81.3 สูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือสูงสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นมา

โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนทุกรายการ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะกลับมาดีขึ้นตามลำดับต่อเนื่อง

ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.1 จากระดับ 67.9 สูงสุดในรอบ 42 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น มาจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติคงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี การส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 8.19 ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า

"การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในทุกรายการเดือนนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายตัวและกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง ทำให้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตที่กลับมาสู่ระดับ 100 อีกครั้งในรอบหลายปี น่าจะทำให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว