ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ห่วงการใช้อำนาจรัฐ สร้างปัจจัยที่ กกต. ควบคุมไม่ได้ มากระทบการเลือกตั้ง ยอมรับเลือกตั้งครั้งนี้ ส่อไม่สุจริตเที่ยงธรรม เมื่อผู้เขียนกติกา ลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนาหัวข้อ "กลไกปราบโกงเลือกตั้ง ใช้กับใคร ใช้ได้จริงหรือ?" ในวาระครบรอบ 20 ปี วันสถาปนาสำนักงาน กกต. 9 มิ.ย. 2561 

รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สมาชิกพรรคการเมือง คือบุคคลสำคัญด่านแรก ในการควบคุมการโกงเลือกตั้ง โดยจะต้องช่วยกันคัดเลือกและตรวจสอบผู้สมัครที่เหมาะสม มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่ใช่ให้นายทุนพรรคชี้นิ้วเลือกเพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ ประชาชน ต้องหยุดเรียกรับผลประโยชน์จากนักการเมือง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อไม่มีคนรับก็ไม่มีคนให้ สุดท้ายนักการเมืองก็หยุดให้ผลประโยชน์แลกกับคะแนนเสียงไปเอง

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งแล้ว องค์กรอิสระ จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการโกงระหว่างดำรงตำแหน่ง และยังเป็นห่วง นักการเมืองสุจริตบางส่วน ที่เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองแล้ว อาจจะเจอระบบราชการที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน จนสุดท้ายก็คล้อยตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องกำหนดให้ข้าราชการ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เช่นเดียวกับนักการเมืองด้วย

ทั้งนี้ ย้ำว่า หากประชาชนเข้มแข็ง เชื่อว่าการทุจริตไม่เกิดขึ้นแน่นอน 'รัฐธรรมนูญ' จึงเป็นอีกส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็ง 


เสวนา.jpg

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงความสุจริตเที่ยงธรรม ย่อมเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ กติกาต้องเป็นธรรม บังคับใช้กติกาต้องเป็นธรรม และใช้อำนาจรัฐต้องเป็นธรรม ดังนั้นจึงเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นธรรม เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่สุจริตเที่ยงธรรมตั้งแต่ต้นในหลายมาตรา เช่น การได้มาซึ่งฝ่ายบริหาร โดยใช้รูปแบบจัดสรรปันส่วนผสม การเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน 100% เพราะให้สิทธิ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน เลือกนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ ส.ส. มีจำนวน 500 คน การเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง ให้ยืนยันสมาชิกพรรคภายในเวลาที่กำหนด ถือว่า "เอื้อพรรคใหม่ บอนไซพรรคเก่า" และการใช้อำนาจเหนือองค์กรอิสระ โดยอาศัยมาตรา 44 ตั้งแต่ก่อนไปจนถึงหลังเลือกตั้ง จึงเกิดคำถามว่า นี่คือความเที่ยงธรรมหรือไม่?

นายจุรินทร์ ย้ำว่า 'กลไกปราบโกงเลือกตั้ง' ต้องใช้กับทุกคนทุกพรรคทุกฝ่าย ส่วนที่ถามว่า จะใช้ได้จริงหรือไม่? ขึ้นอยู่กับ กกต. ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย หากยังคงยืนหยัดบนความยุติธรรม ความถูกต้อง ไม่เป็นเสือหมอบ หรือเสือกระดาษ ก็เชื่อว่า ยังคงมีหวัง 

อย่างไรก็ตาม 'การเลือกตั้ง' ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ยังห่วงเงื่อนไขนอกรัฐธรรมนูญ เพราะช่วงที่ผ่านมาเกิดคำพูดว่า "ไม่สงบ ก็ไม่ต้องเลือกตั้ง" หากมีคนเอาเงื่อนไขนี้มาใช้จริง ก็ไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ 


904897.jpg

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารถึงผู้ปฎิบัติงาน จะต้องเจอศึกหนัก เพราะทุกฝ่ายคาดหวังว่า การเลือกตั้ง จะต้องสุจริตเที่ยงธรรม แต่ต้องยอมรับว่า มีปัจจัยบางอย่างที่ กตต. ควบคุมเองไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐของผู้มีอำนาจ

ส่วนความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ การที่ คสช. ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ทำให้พรรคไม่สามารถเดินไปถามความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาคิดเป็นนโยบายได้ ผู้ที่เสียประโยชน์จึงไม่ใช่แค่นักการเมืองฝ่ายเดียว แต่ยังรวมไปถึงประชาชนและประเทศชาติด้วย ถือว่าเป็นการตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนออกไป ซ้ำร้าย ผู้เขียนกติกา กำลังลงมาเป็น ผู้เล่น ในสนามเสียเอง และยังคงมีอำนาจตัดสินในสนามนั้นด้วย ดังนั้น จึงถือว่า เป็นเรื่องผิดปกติ ไม่อยู่ในหลักการ ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม