ไม่พบผลการค้นหา
กรมสรรพากรแจงหลักเกณฑ์เลือก 'เคาน์เตอร์เซอร์วิส' คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว เปิดให้ดำเนินการนำร่อง 6 เดือน แล้วประเมินผลอีกครั้ง

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รองโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ตามที่กรมสรรพากรได้ประกาศเปิดรับสมัครตัวแทน เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง มาตั้งแต่วันที่ 7 - 17 ก.ย. ที่ผ่านมา และมีผู้ประกอบการยื่นสมัครทั้งหมด จำนวน 3 ราย โดยกรมสรรพากรได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นสมัครทั้ง 3 ราย พบว่า ผู้ยื่นสมัคร 2 ราย มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีฯ และแนวปฏิบัติ 

โดยรายหนึ่งไม่ได้แสดงวัตถุประสงค์จดแจ้งจัดตั้งบริษัทเป็นตัวแทนของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร ให้ปรากฏอยู่ในข้อหนึ่งข้อใดที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคล และอีกหนึ่งรายขาดคุณสมบัติเนื่องจากเสนอจุดบริการจำนวน 5 แห่ง ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่กำหนดตามแบบคำขออนุมัติฯ 

ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดคุณสมบัติตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง ประกอบด้วย

  • ต้องเป็นบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนตามกฎหมายไทย 
  • มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท
  • เป็นผู้ประกอบการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • มีความประสงค์จะเป็นตัวแทนของผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ต้องคืนในเขตกรุงเทพฯ - ปริมณฑล 
  • ต้องมีคอมพิวเตอร์ วัสดุอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับกรมสรรพากรได้
  • ต้องเสนอจุดที่เป็นจุดคืนเงินภาษี จำนวน 3 จุดให้กรมสรรพากรพิจารณา

ส่วนการพิจารณาคัดเลือก กรมสรรพากรพิจารณาจาก 2 ส่วนคือ (1) คุณสมบัติของผู้สมัคร และ (2) ความเหมาะสมในการเป็นผู้ให้บริการเป็นตัวแทนฯ ได้แก่ การพิจารณาความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ตั้งของสถานที่ให้บริการ การคมนาคมสะดวก ความปลอดภัย อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ความพร้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ โดยผู้สมัครต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าผ่าน  

"ยืนยันว่า การพิจารณาคัดเลือกรายผู้ให้บริการฯ เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 224) และแนวปฏิบัติทุกประการ จึงมีความโปร่งใส และมิได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหรือกลุ่มธุรกิจใด เพราะมีเกณฑ์ประกาศชัดเจน พร้อมกับมีการซักซ้อมทำความเข้าใจบนพื้นฐานเอกสารที่แต่ละบริษัทที่สมัครเข้ามาเทียบเคียงกับประกาศกรมสรรพากรแล้ว"นายปิ่นสาย กล่าว

นอกจากนี้ จะมีการประเมินผลการให้บริการหลัง ซึ่งคือหลังวันที่ 31 มี.ค. 2562 โดยจะประเมินผลวัดทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ เพื่อเสนอกระทรวงการคลัง โดยจะประเมินใน 4 มิติ ได้แก่ 1) มูลค่าเงินที่หมุนกลับในระบบเศรษฐกิจ 2) การเจริญเติบโตของยอดขายสินค้า 3) ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ขอคืนที่ลดลงในสนามบิน และ 4) คุณภาพการบริการ 

"เดิม การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อของในประเทศก็ไปขอคืนภาษีได้ที่สนามบิน โดยนักท่องเที่ยวดำเนินการด้วยตนเอง แต่ระบบใหม่นี้ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจะมีสถานะเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจจากนักท่องเที่ยวมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากหลวง โดยบริษัทต้องจดแจ้งในรายงานการขอจัดตั้งบริษัทว่าเพื่อดำเนินการเป็นตัวแทนนี้ โดยบริษัทที่ตั้งมานานก็ต้องไปแจ้งวัตถุประสงค์เพิ่มหาจะขอรับใบอนุญาตให้บริการ" นายปิ่นสาย กล่าว

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง และกำหนดคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวเป็นเงินสดรวมกันไม่เกิน 12,000 บาทต่อคนต่อทริป โดยต้องแสดงสินค้าที่ซื้อ เช่น อัญมณี ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา ที่มีมูลค่ารวมกันไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้ รองโฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 54 มีมูลค่าซื้อสินค้า 4.8 หมื่นล้านบาท และคิดเป็นภาษีขอคืน 2,500 ล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :