เว็บไซต์เจแปนไทม์/บลูมเบิร์ก และนิกเกอิเอเชียนรีวิว รายงานว่า บริษัทอิโตแฮม ฟูดส์ อิงค์ และบริษัทสตาร์เซน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวคุณภาพสูงของญี่ปุ่น มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 16 เปอร์เซ็นต์ช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีการส่งออกเนื้อวัววากิว หรือ 'วะกิว' มากกว่า 470 ตันไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงญี่ปุ่น
ตลาดต่างประเทศที่มีการนำเข้าเนื้อวัววากิวจากญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ โดยปริมาณเนื้อวัวที่ส่งออกโดยรวม เพิ่มขึ้นถึง 41 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าปริมาณเนื้อวัวส่งออกจะเพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเนื้อวัววากิวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนไต้หวันเป็นตลาดที่คาดว่าจะนำเข้าเนื้อวัววากิวจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่ไต้หวันสิ้นสุดคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลจากความกังวลว่าสินค้าต่างๆ จะปนเปื้อนกัมมันตรังสี หลังเกิดวิกฤตโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รั่วไหลในจังหวัดฟุกุชิมะ หลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือน มี.ค.2554
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่าคุณสมบัติของ 'วัววะกิว' คือ มีไขมันแทรกตัวอยู่อย่างละเอียดคล้ายตาข่ายอยู่ทั่วกล้ามเนื้อ เรียกว่า 'ลายหินอ่อน' ซึ่งจะทำให้เกิดรสสัมผัสอ่อนนุ่ม...จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือกลิ่นหอม" ทั้งยังเป็นวัวพันธุ์ญี่ปุ่นที่เลี้ยงในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ระบุว่า ปริมาณวัววากิวและเกษตรกรผู้เลี้ยงวากิวในประเทศญี่ปุ่นลดลงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถดึงดูดเกษตรกรหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนและดำเนินการฟาร์มวัววากิวเพิ่มเติมได้ เนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน รวมถึงขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ราคาเนื้อวัววากิวในญี่ปุ่นแพงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะลูกวัวซึ่งมีราคาต่อตัวประมาณ 780,000 เยน หรือประมาณ 2.37 แสนบาท ส่วนราคาเนื้อวัววากิวทั่วไปอยู่ที่ประมาณ ก.ก.ละ 2,300-2,400 เยน หรือ 672-701 บาท ขณะที่การส่งออกเนื้อวัวไปยังประเทศภาคีความตกลง TPP จะได้รับการผ่อนผันด้านภาษี ทำให้ผู้ส่งออกของญี่ปุ่นได้รับผลประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว
ขณะที่การเลี้ยงโคขุนในไทย มีการนำเข้าตัวอ่อนแช่แข็งของวัววากิวพันธุ์แท้ และนำมาผสมเทียมฝากไว้ในมดลูกโคนม เมื่อวัววากิวเกิดมาใหม่ก็นำไปเป็นพ่อพันธุ์ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง และนำไปผสมเทียมกับวัวรุ่นต่อมาเพื่อยกระดับสายเลือดให้วัวรุ่นต่อๆ ไปใกล้เคียงกับวัววากิวพันธุ์แท้มากที่สุด เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเนื้อวัวคุณภาพสูงในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: