มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เดินทางไปที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เพื่อให้การและกล่าวขอโทษต่อรัฐสภายุโรปกรณีที่ข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 87 ล้านคนรั่วไหลและถูกบริษัทวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปและนักการเมืองเริ่มมองว่าเฟซบุ๊กไม่มีความตั้งใจจริงที่จะปกป้องสิทธิและข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยซักเคอร์เบิร์กหวังว่าการให้ปากคำกับคณะกรรมการของรัฐสภายุโรปครั้งนี้จะช่วยเรียกความมั่นใจจากกลุ่มประเทศในอียูกลับมาได้อีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า ซักเคอร์เบิร์ก ถูกสมาชิกของรัฐสภายุโรปเทศนาชุดใหญ่และซัดคำถามหลายข้อที่เขาไม่สามารถตอบได้
หลังจากที่ฟังข้อสงสัย ข้อกังวล และคำถาม จากสมาชิกของรัฐสภายุโรปอยู่นานเกือบ 1 ชั่วโมง ซักเคอร์เบิร์กก็ใช้เวลาประมาณ 25 นาทีเพื่อตอบคำถามหรือโต้แย้งในประเด็นต่างๆ แต่กลับมีหลายๆ คำถามที่ซักเคอร์เบิร์กเมินเฉยและไม่พูดถึงเลย เรื่องนี้ก็ทำให้นายกาย เวอร์ฮอฟสตาท สมาชิกรัฐสภาอียูจากเบลเยียม ถึงกับบอกซักเคอร์เบิร์กว่า 'ผมถามคำถามที่คุณควรตอบแค่ใช่หรือไม่ใช่ไปหกคำถาม แต่ผมไม่ได้คำตอบจากคุณเลยสักข้อ' ซึ่งซักเคอร์เบิร์กยังคงปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยตอบกลับไปว่า 'ผมขอเวลาศึกษาข้อมูลและจะตอบท่านในทีหลัง'
ประเด็นหลักที่ซักเคอร์เบิร์กถูกโจมตีในระหว่างการไต่สวนก็คือการที่เฟซบุ๊กรู้ตัวมาก่อนแล้วตั้งสามปีว่าข้อมูลของผู้ใช้งานถูกบริษัทเคมบริดจ์อนาไลติกานำไปใช้ประโยชน์ แต่กลับปิดปากเงียบมาตลอดจนเรื่องกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา รวมไปถึงการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานที่ดูล่วงล้ำสิทธิมากเกินไป และยังมีประเด็นเรื่องการเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังบนเฟซบุ๊ก
นายอันโตนิโอ ทาจานี ประธานรัฐสภาของยุโรป ก็พูดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตีค่านิยมของประเทศในยุโรป และเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แม้ซักเคอร์เบิร์กจะพยายามเสนอแนวทางที่เฟซบุ๊กเตรียมจะใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็ถูกตอกกลับมาว่า การบอกว่าเฟซบุ๊กจะแก้ปัญหาเองคงยังไม่ดีพอ
นับตั้งแต่มีการรายงานข่าวว่าเฟซบุ๊กทำข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลกว่า 87 ล้านคน และข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงใช้แทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯเมื่อปี 2016 จนทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ซักเคอร์เบิร์กก็ใช้เวลาในช่วงเดือนที่ผ่านมาตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่ออธิบายและขอโทษต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต่อสภาคองเกรสในสหรัฐฯ สภาในอังกฤษ และตามสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งก็ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายความตึงเครียดลงมาได้บ้าง แต่ว่าการเข้าให้การกับรัฐสภาของยุโรปครั้งนี้กลับดูไม่ค่อยประสบความสำเร็จเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา
ภาพ: AFP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: