องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติหรือ UN Women ได้จัดงานเสวนาเรื่องบทบาทพรรคการเมืองต่อการส่งเสริมความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง โดยแอลิสัน เดวิเดียน จาก UN Women ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า ผู้หญิงในการเมืองจะสร้างความแตกต่างได้จริง เพราะผู้หญิงมีมุมมองต่อปัญหาที่แตกต่างจากผู้ชาย หากมีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้นก็จะทำให้มีการพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์สังคมที่หลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้หญิงจาก 8 พรรคการเมืองของไทยเห็นตรงกันว่า หญิงไทยยังต้องพบเจอความเสี่ยงหลายด้านในการเข้ามาทำงานการเมือง ตั้งแต่ความไม่มั่นใจในตัวเองของผู้หญิง ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ไปจนถึงอคติทางเพศ จึงทำให้ผู้หญิงต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่วงการการเมืองมากกว่านักการเมืองชาย ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ผู้หญิงตัดสินใจเข้าทำงานการเมืองน้อยลงด้วย
“ผู้หญิงกันเอง เราก็ไม่ยอมรับกันเอง ขณะเดียวกันผู้ชายก็ไม่ยอมรับเรา”
นาที รัชกิจประการ กรรมการพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า หากจำกัดความสำคัญของผู้หญิงในการเมืองลงมาเหลือเพียง 3 คำ คือ 1.สัดส่วน ที่ผู้หญิงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง 2. คอร์รัปชัน ที่อาจลดลง 3.ปัญหาของผู้หญิง ที่ไม่มีใครรู้ดีเท่าผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าเข้าไปทำงานการเมืองก็เป็นปัญหาจากตัวเอง เพราะผู้หญิงก็ไม่ยอมรับกันเอง ในขณะที่ผู้ชายก็ไม่ยอมรับผู้หญิงอยู่แล้ว ผู้หญิงจึงต้องมีความมุ่งมั่น เพื่อให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายยอมรับ โดยเธอยกตัวอย่างว่า ขณะที่ทีมงานภาคใต้ของเธอมีสัดส่วนผู้หญิงทำงานการเมืองมากกว่าร้อยละ 30 แต่เมื่อลงไปในพื้นที่แล้ว ผู้หญิงก็ยังต้องอดทนอย่างมาก เพราะต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงและการข่มขู่
“พรรคต้องปูพื้นลาดยางเตรียมความพร้อมให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมือง แต่ก็ต้องชะงักไป 5 ปี ผู้หญิงเสียโอกาสไปมาก”
ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า อุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่เข้าไปทำงานการเมืองคือ ความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง ภาระหน้าที่การดูแลครอบครัว ไม่มีเครือข่ายกับพรรคการเมือง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงกลัวที่จะเข้ามาทำงานการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก หากสมาชิกพรรคทำผิดที่ไหนก็ตาม กรรมการบริหารพรรคก็จะได้รับโทษจำคุกและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปด้วย
นอกจากนี้ เธอมองว่า ผู้หญิงที่ไม่กล้าเข้าไปทำงานการเมืองหลายคนกลัวเสียชื่อเสียง เพราะผู้หญิงมักถูกโจมตีด้วยเรื่องชู้สาวอย่างหนัก เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ก็ถูกใส่ร้ายด้วยถ้อยคำที่รุนแรง จนทำให้อับอายและเสียใจ นี่เป็นสิ่งที่สังคมโลกต้องช่วยกันตอกย้ำว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงความรุนแรงทางวาจาด้วย
ลดาวัลลิ์มองว่าพรรคการเมืองควรเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงมากขึ้น โดยตำแหน่งในพรรคที่ใช้ระบบการเลือกตั้งไม่สามารถกำหนดสัดส่วนเพศชายหญิงได้ แต่สำหรับที่ใช้การแต่งตั้งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับผู้หญิง ขณะเดียวกัน นักการเมืองผู้หญิงที่เป็นรุ่นพี่ก็พยายามที่จะเป็นรุ่นพี่ที่ดีในการกระตุ้นให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของผู้หญิงด้วย
ลดาวัลลิ์กล่าวว่า นโยบายของพรรคต้องมีโครงการอบรมเตรียมความพร้อมให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมือง แต่โครงการดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยต้องชะงักไป 5 ปี ผู้หญิงเสียโอกาสไปมาก ดังนั้น รัฐบาลควรรีบปลดล็อกทางการเมือง เพื่อให้ผู้หญิงหน้าใหม่ในวงการการเมืองได้เตรียมความพร้อม
“ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคสำหรับผู้หญิงที่อยากเข้าสู่การเมือง แต่มีความท้าทาย”
รศ.รัชดา ธนาดิเรก ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ปัจจุบัน ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคสำหรับผู้หญิงที่อยากเข้าสู่การเมือง แต่มีความท้าทายหลายประการที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่เลือกที่จะเข้ามาทำงานการเมือง โดยผู้หญิงที่สนใจการเมืองจะต้องถามตัวเองว่าพร้อมจะเจอกับความเสี่ยงหรือไม่ เช่น เมื่อเกิดการรัฐประหาร หมายความว่าจะตกงานอยู่หลายปี ครอบครัวจึงต้องมีความพร้อม และผู้หญิงหลายคนก็กลัวเสี่ยงเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะไม่ว่าจะวงการไหน เมื่อผู้หญิงเริ่มมีตำแหน่งสูงขึ้นก็จะถูกตั้งคำถามว่า “เป็นเด็กใคร เป็นเมียน้อยใคร” ทำให้คนที่มีหน้าที่การงานมั่นคงดีอยู่แล้วลังเลว่าจะลงการเมืองให้ “เปลืองตัว” ไปเพื่ออะไร
รศ.รัชดากล่าวว่า ประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย การเลือกตำแหน่งต่างๆ จะมาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มองว่าคนทำงานเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีผู้ชายทำงานการเมืองมากกว่า ก็จะมีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำว่ากรรมการบริหารพรรค 41 คนจะต้องมีผู้หญิงอย่างน้อย 10 คน และในขณะที่นักการเมืองหญิงหลายคนมักจะได้รับโอกาสให้ทำงานเกี่ยวกับเพศหรือสาธารณสุขเท่านั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์ให้เสรีภาพกับสมาชิกแต่ละคนว่ามีความสนใจด้านไหนบ้าง เช่น ตัวเธอเองก็อยู่ในทีมทำงานด้านต่างประเทศ
“ตราบใดที่ไม่พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย อย่าเพิ่งพูดกันถึงความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา”
พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่สรุปความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในการเมืองด้วย 3 คำคือ ธรรมชาติ เท่าเทียม และเท่าทัน โดยระบุว่า เมื่อทุกคนยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศและเชื้อชาติ ศาสนาอะไร 'เท่ากัน' จะนำไปสู่ความเท่าเทียมและเท่าทัน เธออธิบายว่า แม้จะเพิ่งเข้ามาทำงานการเมืองได้เพียง 6 เดือนก็พบความไม่เท่าเทียมทางเพศหลายอย่าง ค่านิยมที่ทำให้ชายเป็นใหญ่ในวงการการเมืองทำให้เพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ชายกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงกลุ่มหลากหลายทางเพศ และอื่นๆ ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชาย
นอกจากนี้ เธอยังกล่าวว่าสัดส่วนใน สนช.ตอนนี้ไม่สะท้อนความหลากหลายในสังคม เพราะผู้สูงอายุในไทยมีอยู่ประมาณร้อยละ 12 แต่อายุเฉลี่ยสมาชิกใน สนช.อยู่ที่ 64 ปี ขณะที่สัดส่วนผู้ชายมีอยู่ 32 ล้านคน ผู้หญิง 33.5 ล้านคนในประเทศไทย คือสัดส่วน 49 : 51 สัดส่วน สนช.คือ 95 : 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 235 ต่อ 12 คน ขณะที่ข้อมูลจาก LGBTCapital.com ปี 2558 มีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 4 ล้านคนโดยเฉลี่ย แต่ สนช.กลับไม่มีคนที่เป็น LGBT อยู่ ดังนั้น ตราบใดที่ไม่พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย อย่าเพิ่งพูดกันถึงความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา
อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่มีมติร่วมกันว่าจะไม่กำหนดโควต้าสำหรับผู้หญิง เพราะแม้จะเป็นทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเร่งด่วน เป็นการรักษาอาการ แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพราะระบบโควต้าอยู่บนรากฐานการยอมรับความไม่เท่าเทียมทางเพศ พรรคจึงกำหนดโควต้าหลวมๆ ไว้สำหรับความหลากหลายที่ไม่จำกัดแค่เพศหรือเชื้อชาติเท่านั้น
พรรณิการ์มองว่าการส่งเสริมให้ผู้หญิงและคนเพศหลากหลายเข้าสู่การเมืองมากขึ้น จะต้องมีการผลักดันด้านสังคมมากขึ้น เช่น การมีสวัสดิการดูแลเด็ก เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้หญิงมีเวลาเข้าไปทำงานการเมืองมากขึ้น เป็นต้น
“ความเข้าใจเดิมที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ขอเปลี่ยนใหม่เป็น เราจะเป็นเท้าที่เดินไปพร้อมๆ กัน”
รอมือละห์ แซแยะ ตัวแทนพรรคประชาชาติกล่าวว่า บทบาทสตรีมุสลิมอาจเหมือนถูกปิดกั้น และเวทีการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำได้ ยกเว้นการนำละหมาด เธอยังระบุว่า เธอต้องการเปลี่ยนวาทกรรมผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า และผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เป็นเท้าที่เดินไปพร้อมกัน
“การเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่คุยในระดับชาติเท่านั้น แต่ต้องคุยกันในระดับครอบครัว ระดับชุมชน”
ปาติเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ตัวแทนพรรครวมพลังประชาชาติไทยกล่าวว่า นักการเมืองหญิงทุกคนในที่นี้ไม่มีใครเดินเข้ามาทำการเมืองได้เลย ทุกคนล้วนมีต้นทุน ต้องมีการเตรียมความพร้อม ได้รับการอบรมเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ทางการเมือง ในทางกลับกัน การเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ ต้องมีการคุยกันเรื่องนี้ทั้งระดับชาติ ระดับชุมชน และระดับครอบครัว เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้หญิง ให้ครอบครัวมีความพร้อม ชุมชนผลักดัน
เธอยกตัวอย่างว่า สิ่งที่เธอทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ การส่งเสริมผู้หญิงในทางการเมือง ส่งเสริมให้สมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. เพื่อเตรียมความพร้อมผู้หญิงเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่น และระดับประเทศต่อไป
“การมีผู้ชายอย่างเดียว ทำให้ปัญหาบางอย่างของผู้หญิงไม่ได้รับการแก้ไข และไม่มีใครเป็นปากเป็นเสียง”
เยาวภา บุรพลชัย รองโฆษกพรรคชาติพัฒนา และอดีตนักกีฬาเทควันโดทีมชาติ ซึ่งสามารถคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมมาครองเมื่อปี 2547 แสดงความเห็นว่า สังคมมีความหลากหลาย การมีผู้นำที่เป็นผู้ชาย ทำให้ปัญหาของผู้หญิงถูกละเลยไป ผู้หญิงจึงควรเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
นอกจากนี้ เธอยังมองว่า การมีผู้หญิงในวงการการเมืองมากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสถานการณ์การเมืองช่วงนี้ที่มีความขัดแย้งรุนแรง เพราะผู้ชายมักมีนิสัยทะเยอทะยาน ชอบการแข่งขันมากกว่า ส่วนผู้หญิงจะมีท่าทีนุ่มนวลประนีประนอมมากกว่า
“ผู้หญิงเป็นพลังเงียบ”
ทัศน์ลักษณ์ ปัตตพงศ์ภัช รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนามองว่า ผู้หญิงเป็นพลังเงียบ ผู้หญิงมีอำนาจหลังบ้าน หากไปขอความช่วยเหลือใครแล้วไปพูดกับผู้หญิงที่อยู่หลังบ้านนั้น งานก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงอยากให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น