ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้าน จ.ภูเก็ต จัดงานรำลึก 13 ปี เหตุการณ์สึนามิพัดถล่มฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณกำแพงรำลึกสึนามิ 45 ประเทศ ด้านรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเผยปัจจุบันได้ปรับปรุงระบบเตือนภัยเพื่อใช้กระจายข่าวและเตือนเหตุภัยพิบัติ

วันที่ 26 ธ.ค. 60 ที่ อบต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต บริเวณกำแพงรำลึกสึนามิ 45 ประเทศ สุสานไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีนางสาวอรอนงค์ ทิมบัว ปลัดอำเภอถลาง เป็นประธานในการประกอบพิธีทำบุญ 3 ศาสนา ครบรอบ 3 ปี เพื่ออุทิศส่วนกุศลและรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และสูญหาย จากเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อ 13 ปีก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก มีนายวิรัช มาแก้ว รองนายกองค์บริหารส่วนตำบลไม้ขาว ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้นำทางศาสนา ญาติของผู้เสียชีวิต ตัวแทนจากต่างประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เริ่มจากพิธีทางศาสนาคริสต์ มีการสวดขอพรจากพระเจ้าตามด้วยสวดพระธรรมคาถาของศาสนาพุทธ ถวายสังฆทาน เลี้ยงพระเพล ตามด้วยพิธีดูอาทางศาสนาอิสลาม จากนั้นร่วมกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตและสูญหาย


2.jpg

พิธีตามศาสนาคริสต์


1.jpg

พิธีตามศาสนาพุทธ


4.jpg

พิธีตามศาสนาอิสลาม

สำหรับกำแพงรำลึกสึนามิที่สุสานไม้ขาว สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้จากไปจากเหตุการณ์สึนามิ เนื่องจากที่บริเวณนี้ใช้เป็นจุดในการเก็บรวบรวมศพผูเสียชีวิตเพื่อรอพิสูจน์อัตรลักษณ์บุคคล โดยกำแพงดังกล่าวมีการประดับธงชาติของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิรวม 45 ประเทศ



3.jpg

กำแพงรำลึกสึนามิ 45 ประเทศ

โดยชาวอเมริกันเพื่อนของหนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนล่องเรือใบท่องเที่ยว จนถึงจังหวัดภูเก็ตในช่วงเกิดสึนามิ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เพื่อนเสียชีวิตทั้งหมดมีตนรอดเพียงคนเดียว ซึ่งตนเดินทางมาร่วมงานทุกปีและจะเดินทางไปตามจุดต่างๆที่จัดงานรำลึกเพื่อรำลึกถึงเพื่อนที่จากไปและสูญหาย 

สำหรับความเตรียมความพร้อมด้านระบบเตือนภัยสึนามิในประเทศไทย นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตอนนี้ระบบเตือนภัยสึนามิมีอยู่ 2 ส่วน คือ ตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทร และระบบแจ้งเตือนภาคพื้นดิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ"ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ" โดยพบว่ายังต้องอุดช่องโหว่เรื่องการแจ้งเตือนระดับบุคคล รวมทั้งซ่อมบำรุงเครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชม. และสามารถเตือนภัยพิบัติอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งเกิดบ่อยกว่าแผ่นดินไหวและสึนามิ

สำหรับระบบการแจ้งเตือนภาคพื้นดินนั้น ที่ผ่านมามีการสร้างหอเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งก่อสร้างมากว่า 10 ปีแล้วซึ่งในระยะแรกใช้เพื่อเตือนภัยเท่านั้น แต่เนื่องจากยังไม่เคยเกิดสึนามิครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จึงดูรกร้างขาดการใช้งาน ปัจจุบันได้ปรับปรุงและใช้ประโยชน์ทางอื่นมากขึ้น เช่น กระจายข่าวชุมชนและเตือนเหตุภัยพิบัติต่างๆ

หลังจากนี้จะเพิ่มช่องทางให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรับรู้การแจ้งเตือนให้เร็วที่สุด และพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน