ไม่พบผลการค้นหา
สิงคโปร์รายงานอ้างอิงบทบรรณาธิการของสื่อไทย เตือนเรื่องการพึ่งพาจีนมากเกินไป ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน การเมือง ขณะที่หลายประเทศในเอเชียเริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากจีนแล้ว

เดอะสเตรตไทม์ส สื่อของสิงคโปร์ รายงานอ้างอิงบทบรรณาธิการของเดอะเนชั่น ซึ่งกล่าวถึงกรณีรัฐบาลทหารไทยในปัจจุบันเปิดรับการลงทุนและการกู้ยืมเงินจากจีน ภายใต้การผลักดันของรัฐบาลจีนในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือแนวคิดริเริ่ม 'แถบและทาง' Belt and Road (BRI) ที่ดำเนินการต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 และไม่ได้มีเป้าหมายแค่การขยายความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชีย แต่รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

จีนทุ่มงบประมาณกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจกับอีก 65 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพลเมืองร้อยละ 62 ของประชากรทั่วโลก ทั้งยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรพลังงานร้อยละ 75 ของพลังงานทั่วโลกรวมกัน และมีจีดีพีรวมกันคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีทั่วโลก ทำให้โครงการ BRI เป็นการขยายอิทธิพลและสร้างอำนาจต่อรองในด้านต่างๆ ให้กับจีน

โครงการ BRI เชื่อมโยงจีนเข้ากับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากพื้นที่ทางใต้ของจีนไปยังกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และต่อไปยังกลุ่มประเทศที่ติดกับทะเลจีนใต้ แม้แต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทย ก็พยายามผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีนเป็นหลัก จนนำไปสู่การพึ่งพาการลงทุนจากจีนเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการพึ่งพาจีนด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนรัฐบาลทหารไทยมาตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกัมพูชา ก็ปฏิเสธการพึ่งพาทุนและความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกที่เคยบอกรับมาก่อนหน้าที่ และหันไปรับความช่วยเหลือจากจีนแทน

AFP-ศรีลังกา-การลงทุน-จีน-โคลัมโบ-เศรษฐกิจ

(โครงการลงทุนที่รัฐบาลศรีลังกาได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้)

อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ ที่เคยรับความช่วยเหลือและพึ่งพาจีนด้านเศรษฐกิจ เริ่มสะท้อนว่าการกู้ยืมเงินจากจีนเพื่อการลงทุนภายในประเทศกลายเป็นภาระหนี้ที่หนักหนา เพราะอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของจีนนั้นสูงกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

กรณีศึกษาเรื่องการกู้ยืมเงินจากจีน เห็นได้จาก 'ปากีสถาน' และ 'ศรีลังกา' ที่ต้องแบกรับภาระหนี้สูงในปัจจุบัน โดยเฉพาะศรีลังกา ถึงกับต้องขายท่าเรือน้ำลึก 'ฮัมบันโตตา' ให้จีน หลังจากกู้ยืมเงินจากจีนมาสร้างท่าเรือดังกล่าว แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูพนักงานได้

นอกจากนี้ยังมีกรณี มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ประกาศระงับโครงการลงทุนเส้นทางรถไฟสายเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (East Coast Rail Link) ของจีนในมาเลเซีย มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ เมิื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเงินกู้จำนวนมหาศาลและมูลค่าโครงการนั้นสูงเกินไป

ส่วนหลายประเทศแถบแอฟริกาก็ประสบภาวะหนี้กับจีนเช่นกัน แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเซียร์ราลีโอน ได้ยกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นอกเมืองหลวงฟรีทาวน์ ที่จะดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทจากจีนและเป็นการกู้เงินยืมจากจีนที่อดีตประธานาธิบดีเออร์เนสต์ ไบโคโรมา เซ็นสัญญาตกลงไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2022 แต่ถูกระงับไปเสียก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: