ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ผลิตคราฟท์ไทย เผยตลาดคราฟท์เบียร์ไทยโตต่อเนื่อง คาดอีก 2 ปีข้างหน้า โตแบบก้าวกระโดด ย้ำคุณภาพเทียบชั้นระดับโลก พัฒนาไปได้อีกไกล หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง

นายกาญจน์ เสาวพุทธสุเวช ผู้ผลิตเบียร์สเปซคราฟท์ เปิดเผยว่า ความนิยมคราฟท์เบียร์ในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคราฟ์เบียร์ไทยและเบียร์นอกที่นำเขามาขายในประเทศ มีสัดส่วนตลาดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวแตะ 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของมูลค่าตลาดเบียร์ไทย 180,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น ไม่เพียงเกิดจากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาให้ความสนใจในกระบวนการผลิตเบียร์ทำมือ อันเปรียบเสมือนงานศิลปะไม่ต่างจากการผลิตกาแฟหรือไวน์เท่านั้น แต่อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญซึ่งถือเป็นหัวใจหลักคือ รสชาติของคราฟท์เบียร์ที่มีความละเมียด ละมุน นุ่มลึก และมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์จากฮอปส์และวัตถุดิบพิเศษ ซึ่งผู้ผลิตแต่ละแบรนด์คิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดเป็นรสชาติที่ดีที่สุด องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดสุนทรียภาพในการดื่ม จนกลายเป็นความหลงใหลที่สะท้อนตัวตนในที่สุด

​นายกาญจน์ กล่าวว่า เทรนด์ความนิยมคราฟท์เบียร์ที่มาแรง ส่งผลให้ตลาดในประเทศไทยคึกคักเป็นอย่างมาก คาดว่าขณะนี้เฉพาะคราฟท์เบียร์ไทยมีผู้ผลิตไม่ต่ำกว่า 50 - 60 ราย หนึ่งในนั้นก็คือ สเปซคราฟท์ (SPACECRAFT) คราฟท์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย ซึ่งเข้าสู่ตลาดมาแล้วกว่า 2 ปี ล่าสุดยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่าของปีแรก ​อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางคราฟท์เบียร์ไทยจะมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีอุปสรรคหลายด้านที่ผู้ผลิตต้องฟันฝ่า ไม่เพียงปัจจัยที่ควบคุมได้ยากจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้งานกิจกรรมต่างๆ ลดน้อยลงเท่านั้น แต่กระทบไปถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ยังลังเลด้วย การยืนหยัดและเดินหน้าทำตลาดในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายมาก ขณะเดียวกันในด้านข้อกฎหมายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้วงการคราฟท์เบียร์ไทยพัฒนาก้าวสู่ระดับสากล 

S__19308593.jpg

“ผู้ผลิตหลายรายเชื่อว่าหากมีหน่วยงานที่มองเห็นโอกาสและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง คราฟท์เบียร์ไทยจะพัฒนาไปได้อีกไกลมาก เพราะทุกวันนี้ผู้ผลิตไทยหลายแบรนด์สามารถเทียบชั้นเวทีโลกได้อย่างสบาย แต่การจะก้าวไปแข่งขันบนเวทีใหญ่ระดับนานาชาตินั้น ผู้ผลิตต้องหาโอกาสเอง เช่น ก่อนหน้านี้ที่ สเปซคราฟท์ ได้ส่ง อีเว้นท์ ฮอริซอน ที่เป็นเบียร์ประเภทสเต๊าท์ (Stout) ไปแข่งขันบนเวทีใหญ่ระดับโลกอย่าง Australian International Beer Awards ทีมงานต้องทำการบ้านอย่างหนัก จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลเหรียญทองแดงมาครองในที่สุด”  

นายกาญจน์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขาย ทว่าในกลุ่มนักดื่มที่หลงใหลคราฟท์เบียร์ไม่กระทบมากนัก แต่สิ่งท้าทายของแบรนด์ไทยที่ยากกว่าแบรนด์นำเข้าในหลายๆ ด้าน คือการทำแบรนด์ดิ้ง การทำตลาด การสื่อสารทั้งจากนักต้มเบียร์และสื่อสารผ่านศิลปะ ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมาย เชื่อว่าตลาดจะโตขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะคนมีฝีมือที่ยังเป็นโฮมบรูว์ (HomeBrew) จะไม่มีพื้นที่แสดงความสามารถมากขึ้น หากศึกษาโมเดลจากสหรัฐอเมริกา ภายหลังการแก้กฎหมายให้สามารถผลิตคราฟท์เบียร์ได้ในประเทศ ปรากฎว่าภายในปีเดียวมีผู้ผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ราย ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ แต่ละเมืองจะมีคราฟท์เบียร์เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น ก่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้สู่ชุมชน