คณะนักศึกษาแพทย์ในอินเดีย เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยสถิติการเสียชีวิตที่เกิดจากการเซลฟี่ ในวารสารการแพทย์สำหรับครอบครัวและการดูแลปฐมวัย โดยระบุว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 ถึงเดือน พ.ย. 2560 ประชากรทั่วโลกจำนวน 259 คนเสียชีวิตขณะถ่ายรูปเซลฟี่ โดยร้อยละ 72 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชายซึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ขณะที่ประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตจากการถ่ายเซลฟี่มากที่สุด รองลงมาคือ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน
'การเซลฟี่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่พฤติกรรมมนุษย์ที่มาพร้อมกับการเซลฟี่เป็นอันตราย...'
ผลการศึกษาระบุว่า แม้ว่าปกติแล้วผู้หญิงจะถ่ายเซลฟี่มากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมักจะถ่ายรูปเซลฟี่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่เสี่ยงอันตรายมากกว่า และการเสียชีวิตจากการถ่ายรูปเซลฟี่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น โดยรายงานระบุว่าในปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 3 รายจากการถ่ายเซลฟี่ ขณะที่ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 98 รายจากการถ่ายรูปเซลฟี่
โมฮิด จาอิน หนึ่งในคณะนักวิจัย เปิดเผยกับเดอะวอชิงตันโพสต์ว่า การเสียชีวิตเพราะถ่ายเซลฟี่ เรียกได้ว่าเป็นหายนภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง
การจมน้ำตายเป็นสาเหตุอันดับ 1
ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่า การจมน้ำตายเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตขณะที่ถ่ายรูปเซลฟี่ โดยเฉพาะในสถานที่ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เช่น บริเวณน้ำตกหรือหน้าผาเหนือแม่น้ำ ตามมาด้วยอุบัติเหตุจากการคมนาคมขนส่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักพยายามถ่ายรูปเซลฟี่แข่งกับความเร็ว เช่น การพยายามถ่ายรูปหน้ารถไฟ เป็นต้น
ขณะที่การตกจากที่สูง หรือการถูกไฟคลอกและการถูกสัตว์ที่เป็นอันตรายทำร้ายจนเสียชีวิตก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตขณะถ่ายรูปเซลฟี่ โดยในรายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 8 คน จากการพยายามถ่ายรูปเซลฟี่กับสัตว์ที่เป็นอันตราย แต่สำหรับในสหรัฐฯ แล้ว มีผู้นิยมถ่ายเซลฟี่กับปืนเป็นจำนวนมาก ทำให้ 'ปืนลั่น' เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตขณะเซลฟี่ของชาวอเมริกัน
จัดโซน 'ไม่ถ่ายเซลฟี่'
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากการถ่ายรูปเซลฟี่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและนักท่องเที่ยวที่มักชอบถ่ายรูปเซลฟี่ที่รู้สึกว่า 'เจ๋ง' และโพสต์ลงโซเซียลมีเดียเพื่อเรียกยอดไลก์และคอมเมนต์
'การเซลฟี่ไม่ได้เป็นอันตราย แต่พฤติกรรมมนุษย์ที่มาพร้อมกับการเซลฟี่เป็นอันตราย ทุกคนต้องศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงของการถ่ายรูป และสถานที่ที่มีความเสี่ยงที่ไม่ควรเซลฟี่'
ทั้งนี้ผู้ศึกษางานชิ้นนี้แนะนำว่า ในสถานที่ท่องเที่ยวควรมีการจัดโซน 'ห้ามถ่ายรูปเซลฟี่' โดยเฉพาะในบริเวณยอดเขา ยอดตึกสูง หรือสถานที่ที่ใกล้แหล่งน้ำ
เมื่อปี 2559 ในเมืองมุมไบของอินเดีย ทางเมืองได้ประกาศเขตห้ามถ่ายเซลฟี่ ทั้งหมด 16 เขตภายในเมือง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติภูเขาเมอราปีในอินโดนีเซียก็ประกาศจัดโซนสำหรับถ่ายรูป หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตจากการถ่ายรูปเซลฟี่
ที่มา CNN / Washington Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง