สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และองค์กรภาคี จัดงาน 100 วันแห่งการจากไป 'ราณี หัสสรังสี' นักกิจกรรมเพื่อสังคมรุ่นบุกเบิก มอส. โดยจัดวงเสวนาเรื่อง สถานการณ์สวัสดิการในสังคมไทย 2018
ทั้งนี้ นายธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมสวัสดิการสังคมไทยว่า ช่วงแรกปี 2500-2532 มุ่งให้สวัสดิการกับราชการและชนชั้นกลาง ก่อนขยายตัวสู่ชาวนาและแรงงาน เมื่อมีประชาธิปไตยทางการเมืองมีฐานจากทั้งแนวคิดเรื่องสิทธิทางสังคม แนวคิดเสรีนิยมและจากการเมืองแบบศักดินาราชูปถัมภ์ แม้ระยะหลังจะมีสวัสดิการถ้วนหน้า แต่โดยรวมเป็นเชิงสงเคราะห์และทับซ้อนกัน อย่างประกันสังคมกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งหากไม่ซ้ำซ้อนจะมีทุนจัดสวัสดิการด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่า ในอนาคตต้นทุนสวัสดิการจะสูงขึ้นเป็นภาระทางการคลัง ภาครัฐจะใช้สวัสดิการแบบเจาะจงมาใช้มากขึ้น อย่างสวัสดิการคนจน กับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
นายคมสันต์ จันทร์อ่อน นักปฏิบัติการคนจนเมือง เครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนเป็นการสงเคราะห์ไม่ใช่สวัสดิการ และทำให้คนจนถูกมองเป็นภาระ จึงสร้างความเหลื่อมล้ำ และเป็นมายาคติทางการเมืองหรือประชานิยมรูปแบบหนึ่ง แม้ผู้มีอำนาจจะปฏิเสธก็ตาม อีกทั้งหลักเกณฑ์ไม่รัดกุม มีช่องให้ลูกหลานคนรวยลงทะเบียนได้ ขณะที่คนจนจริงๆ เข้าไม่ถึงสิทธินี้
นายคมสันต์ ได้ยกตัวอย่างสมาชิกกลุ่มคนไร้บ้านที่มีเงินในบัญชีเกิน 1 แสนบาท ทั้งที่เป็นเงินกองทุนของเครือข่าย และบางรายที่ไม่มีเงินเปิดบัญชี ก็ไม่ได้บัตรคนจน พร้อมเสนอว่า รัฐควรคำนึงถึงการเข้าถึงปัจจัย 4 และการศึกษาของประชาชนมากกว่าการแจกบัตรคนจน แต่ยุคนี้เหมือนย้อนกลับไปสมัยเเรกเริ่มสวัสดิการรัฐที่อุ้มชูราชการและลดทอนสวัสดิการประชาชน
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิชาการอิสระ จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทองว่า ไม่ใช่ประชานิยมแต่เป็นรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้ากว่า สวัสดิการรัฐ ซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านบัตรทอง และ คสช.ควรทำความเข้าใจด้วย ขณะที่ยุคนี้เป็นระบบราชการนิยม เพราะมีการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ ทั้งที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลราว 14,000-15,000 บาทต่อคนต่อปี แต่ผู้ใช้บัตรทองและประกันสังคมอยู่ที่ 3 พันกว่าบาทเท่านั้น
"รัฐบาลอำนาจนิยม มีความพยายามยามลดทอนหลักประกันสุขภาพ ทั้งการให้บางกลุ่มฐานะร่วมจ่ายตัวยาและโรคที่ไม่ครอบคลุม รวมถึงราคายาที่แพงขึ้น พร้อมยืนยันว่า ประชาชนพร้อมร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสม แต่บัตรทอง ถือเป็นระบบให้ประชาชนร่วมบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลและไม่แบ่งแยก หรือ ไม่เจาะจงเฉพาะคนจนเท่านั้น" น.ส.กรรณิการ์ ระบุ
ส่วนนางสุนี ไชยรส ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวถึง สวัสดิการเด็กเล็ก ว่าเป็นหน้าที่ร่วมกันทางสังคมไม่ใช่เฉพาะครอบครัวของเด็กเท่านั้น เพราะเกี่ยวพันธ์ทั้งแรงงานเกษตรกร หรือทุกภาคส่วนที่มีบุตร คาบเกี่ยวทุกด้านทั้งประเด็นการรักษาพยาบาล การศึกษา เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต พร้อมยืนว่า สวัสดิการสังคมเริ่มต้นและเป็นผลมาจากการต่อสู้ของภาคประชาชนที่หลากหลาย ทั้งเรื่องสุขภาพ แรงงาน สตรีและเด็ก รวมถึงกลุ่มความคิดทางการเมือง โดยพัฒนาการสวัสดิการรัฐได้เพราะรัฐบาล ยอมรับข้อเรียกร้องเพื่อป้องกันไม่ให้การต่อสู้ของประชาชนรุนแรงขึ้นหรือเกิดจากการต่อรองนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: