ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าต่างประเทศเดือน ม.ค. 2562 ชี้ ส่งออกลดลงร้อยละ 5.7 มีมูลค่าส่งออก 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3 เดือนซ้อนนับตั้งแต่ พ.ย. 2561 เหตุจากการค้าโลกชะลอตัว ข้อพิพาททางการค้าโลกยืดเยื้อ อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะงักงัน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 

ส่วนการนำเข้ามูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.99 ส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ทั้งปี การส่งออกขยายตัวร้อยละ 8

ทั้งนี้ ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง รวมกับราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงจาก 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลต่อราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ราคาทองคำ การส่งออกกลุ่มรถยนต์ลดลง แต่เชื่อว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะกลับมาปกติ

สำหรับเรื่องค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อสินค้าเกษตร โดยคาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และผู้ประกอบการ ควรประกันความเสี่ยงไว้ 

พิมพ์ชนก วอนขอพร-กระทรวงพาณิชย์

(พิมพ์ชนก วอนขอพร)

ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สาเหตุที่การส่งออกเดือน ม.ค. 2562 หดตัวร้อยละ 5.7 เกิดจากแรงกดดันจากภาวะการค้าโลกชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะงักงัน เนื่องจากข้อพิพาททางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อทำให้ชะลอคำสั่งซื้อ และผลจากปัจจัยภายในบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ 

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตลาดญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การส่งออกในตลาดอื่นๆ หดตัว 

หากพิจารณารายสินค้า การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ร้อยละ 2.9 ผลจากการหดตัวของยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ขณะที่ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวสูง การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 5.9 จากสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนซ้อน

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและราคา หดตัวร้อยละ 15.1 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 29.9 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และเมียนมา แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเกาหลีใต้ และมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 18.5 (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ข้าว หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 (หดตัวในตลาดเบนิน จีน แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และมาเลเซีย) 

อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 24.7 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 8.7 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 3.7 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) 

สินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน-เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์-รถยนต์ หดตัว

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 174.7 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 31.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฮ่องกง และจีน) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ขยายตัวร้อยละ 3.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี เบลเยียม ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร) 

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 9.6 (หดตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ เวียดนาม และอินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 33.9 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย อินเดีย และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และจีน) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 10.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย และเม็กซิโก) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 5.1 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และญี่ปุ่น)

4 ปัจจัยกดดันส่งออกไทยปี 2562

ขณะที่ โดยภาพรวมการส่งออกในปี 2562 ยังเผชิญความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ

  • การชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
  • ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานและสต๊อกล้นตลาดกดดันรายได้การส่งออกของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) รวมถึงไทย
  • แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท กดดันรายได้ของผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ จะยังทำให้ไทยรักษาความสามารถทางแข่งขันไว้ได้ 
  • ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก โดยประกาศทางการของทั้งสองฝ่ายระบุว่าการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการบรรลุหลักการในประเด็นสำคัญ โดยจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีติดตามความคืบหน้าการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 21 - 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ กรุงวอชิงตัน ดีซี 

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่าทั้งสองประเทศจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างกันภายหลังการเจรจา และมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจยืดเวลาการขึ้นภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มีนาคม 2562

สำหรับแนวทางการผลักดันการส่งออกในปี 2562 ให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้นต้องปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละตลาด ในภาพรวม การส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย สินค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สัตว์เลี้ยง สินค้าและบริการด้านสุขภาพ (Wellness) รวมถึงภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โลจิสติกส์ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และไทยยังมีศักยภาพในการเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรได้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากข้าว สำหรับตลาดอเมริกานั้น สินค้าเกษตรและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เน้นคุณภาพและมาตรฐานยังทำตลาดได้ดี ขณะที่ตลาดจีนและอินเดียจำเป็นต้องวิเคราะห์ศักยภาพ รายมณฑล/รัฐ ใช้กลยุทธ์การเจาะตลาดด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมทั้งการตั้ง Special Taskforce เจาะตลาดแอฟริกาเชิงลึก

นอกจากนี้ ในภาวะที่การส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงที่หลากหลายและมีความเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน พิจารณากระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาตลาด/ห่วงโซ่อุปทานเป็นหลักเพียงตลาดเดียว

รวมถึงการเตรียมกลยุทธ์การค้าทางเลือกให้พร้อมไว้อยู่เสมอ อาทิ ขยายโอกาสการค้าการลงทุนผ่านการสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับคู่ค้าศักยภาพ (Strategic Partnership) สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (International Business Network) ขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และ CLMV ในโอกาสการเป็นประธานอาเซียน รวมถึงพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์โดยการเชื่อมต่อ e-Marketplace ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการค้าจากท้องถิ่นสู่สากล (Local to Global)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

หมายเหตุ ภาพปก จาก Photo by Ali Yahya on Unsplash